Table of Content

ความต้องการกับความอยาก

Table of Content

...

บทความนี้ยาวมาก

ความจริงโพสท์นี้เป็นแค่การแสดงความคิดเฉยๆ แต่เป็นการแสดงความคิดครั้งแรกที่เอามาลงใน Feed ตัวเอง เพราะว่ามันโคตรจะสุดจะอัดอั้นจริงๆ ในสถานการณ์ที่ทุกคนต่างก็กำลังอยู่ในวิกฤตการณ์การตัดสินใจ (Decision Crisis)

ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ไม่มีใครนิ่งนอนใจ เพราะต้องเลือกที่เรียนในอนาคตกันอย่างเมามัน ในขณะที่เพื่อนเริ่มตัดสินใจอะไรหลายๆ อย่างได้แล้ว รวมถึงผู้ปกครองหลายๆ คนต่างก็เห็นดีเห็นชอบกับการตัดสินใจของบุตรหลานของตัวเอง แต่ก็ยังมีเพื่อนบางคนที่ยังลังเลกับการตัดสินใจของตัวเอง (เช่นเดียวกับผู้ปกครองบางคนที่กลับใจทีหลังกลายเป็นว่าขัดแย้งกับความคิดของลูกตัวเองไปซะอย่างนั้น)

คือเข้าใจแหละว่าเราก็อยู่ในโลกแห่งความจริงด้วยกันทั้งนั้น คนที่โลกสวยอยู่แต่ในทุ่งลาเวนเดอร์ก็อยู่ไม่ได้ แต่คนที่โลกมืดมนมองแต่ในแง่ทางโลภ โกรธ หลง ก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน เข้าใจทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเราทั้งหลาย เงินเดือนเอย การยอมรับ(จากญาติ)เอย อนาคตเอย เส้นทางในสายอาชีพเอย ทุกๆ อย่างได้ถูกมาพิจารณาด้วยกันหมด แล้วไงต่อ? ขัดแย้งกันเอง? บางคนที่เลือกเส้นทางไม่ตรงกับที่พ่อแม่เลือกให้ เราไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย สุดท้าย การที่โรงเรียน (ก็ MWIT นี่แหละ)ส่งปรมาจารย์มาบรรยายให้นักเรียนฟังเปิดโลกลาเวนเดอร์ทั้งหลายแหล่ กลับถูกใส่เข้าถังเพราะ เงินเดือน รางรถไฟที่แคบเกิน หรือพ่อแม่และญาติที่ไม่เปิด – ครอบครัวเรายังไม่เคยมีแพทย์เลยนะ – ใครบางคนอาจจะเคยกล่าวเอาไว้?

เราคงไม่ว่าอะไรมากนัก เพราะเราก็เป็นคนหนึ่งที่รู้สึกแย่กับสถานการณ์แบบนี้เหมือนกัน ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันหมดแต่ไม่มีใครเอามากล้าพูดในที่สาธารณะ – เป็นหมอมีโอกาสมากกว่า, ไปต่างประเทศเปิดกว้างมากกว่า, ประเทศไทยมีแต่คนเลวกับคอร์รัปชั่น จะอยู่ทำบ้าอะไร, งานวิจัยน่ะเหรอ งบน้อยจะตาย โถ่เอ้ย ไปต่างประเทศดีกว่า, เอาทุน กพ. ต้องใช้ทุนเยอะนะ, ฯลฯ – ทุกอย่างพอเอาเรื่องหลายๆ เรื่องมารวมกันมันก็ขัดแย้งจนแทบจะบ้า บ้าจนแม้แต่เด็ก 240*3 คนที่ยังอยู่ในโรงเรียนทุกปีก็ระอากันทุกทีเช่นกัน

แต่ถ้าลองคิดดูจริงๆ หลายๆ เรื่องตั้งแต่เรื่องเล็กยันเรื่องใหญ่ เราต้องลองมาแยกกันดูว่าอะไรคือ “ความต้องการ” และอะไรคือ “ความอยาก”

“ความต้องการ” ทำให้ประเทศดีขึ้น, ทำงานวิจัยแล้วสนุก, อยากทำยารักษามะเร็ง, ประเทศไทยยังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์อันนี้เลยนะ เราต้องทำให้ได้เล้ย (ทำเสียงเหมือน one piece), ฯลฯ

“ความอยาก” อยากได้เงินเดือนเยอะๆ จะได้ Financial Freedom ไวๆ, อยากให้ลูกเรียนหมอจังเลย จะได้อวดคนอื่นได้ แหม ดีจัง, อยากได้ นพ. นำหน้าชื่อ, อยากทำงานที่ต่างประเทศ จะได้หลุดพ้นจากประเทศบ้าบอนี้เสียที, ชื่อเสียง ความน่าเคารพ เกียรติยศและศักดิ์ศรี ฯลฯ อีกมากมายก่ายกอง

บางครั้งความต้องการกับความอยากก็ยากจะแยก เงินเดือนมาตรฐานของใครหลายๆ คนอาจสูงลิ่วจนไม่รู้ว่ามันเป็นความจำเป้นหรือแต่ความอยากกันแน่ บางคนอยากทำงานที่ต่างประเทศเพราะต้องการเก็บประสบการณ์การทำงาน ฯลฯ

ขอให้ทุกคนลองแยก “ความต้องการ” กับ “ความอยาก” ให้ได้จริงๆ แล้วยึดถือ “ความต้องการ” ที่มักจะยั่งยืนกว่า คงทนกว่า มีสาระทางการใช้ชีวิตมากกว่า อย่าไปยึดติดกับ “ความอยาก” มากเกินไป อย่าไปยึดติดกับเงินเดือน อย่าไปยึดติดกับเกียรติที่อาจจะได้รับ อย่าไปยึดติดกับเรื่องแย่ๆ ในประเทศของเราที่กำลังเผชิญอยู่

ถ้าจะลองดูกันจริงๆ ประเทศเราไม่ใช่ว่าไม่มีคนเก่ง และก็ไม่ใช่ว่ากำลังจะแย่จนกำลังจะล่มจม เรายังมีอีกหลายๆ คน(หลายคนจริงๆ) ที่ยังไม่ยอมแพ้ ที่มอง “ความต้องการ” ของตนเองและผู้อื่นมากกว่าเพียง “ความอยาก” ที่ไม่จีรัง ก็ไม่ได้พูดว่าให้รับใช้ชาติ ตามแนวคิดชาตินิยมหรอก แต่ขอให้ถ้าคิดจะทำงานที่ไหน หรือจะทำงานอะไรในอนาคต ก็อยากที่จะให้มองว่า “องค์กรนั้นต้องการอะไรให้เราทำให้บ้าง และเราอยากทำให้เขาไหม” มากกว่า “เงินเดือนเท่าไหร่ มีงบวิจัยให้เยอะป่าว ก้าวหน้าการงานเยอะไหม ฯลฯ” ถ้ามันไม่สนอง “ความต้องการเรา” ก็ค่อยตัดสินใจอีกครั้งว่าจะเอาไงต่อ

สรุปคือ แยก “ความต้องการ” กับ “ความอยาก” ของตัวเอง แล้วทิ้งความอยากนั้นให้มากที่สุด เอาให้ “ความต้องการ” มันเด่นกว่า ทั้งตัวคนที่กำลังจะเรียนต่อ และผู้ปกครอง(ที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจเป็นอย่างมากถึงมากที่สุด)

เข้าใจแหละว่าผปค. หลายๆ คนคือก็มองเงินเดือนกับเกียรติของอาชีพเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่มีผลกระทบมาก แต่บางครั้งมันก็เป็นแค่ “ความอยาก” จริงๆ ไม่ใช่ “ความจำเป็น” ที่จะทำให้เรามีความสุขแบบจริงๆ

ไม่ได้มีปสก. ไปมากกว่าคนอื่นเยอะหรอก แต่ก็อยากให้ทุกคนที่ผ่าน รร. อันได้งบมาเจ็ดร้อยกว่าล้านบาททุกปีได้อ่านสักครั้งก่อนจบ จะได้ไม่ลืมว่า “ความต้องการ” ของโรงเรียนนี้ ตั้งแต่เริ่มตั้งต้นที่วัดไร่ขิงมาเลย คืออะไร

ปล. ที่พิมพ์เพราะเพิ่งเจอเพื่อนบ่นมา รู้สึกอิน TT

โพสต์ต้นทาง

Nutchanon J's Stories

รวมบทความของนิสิตคณะวิศวะฯ คนหนึ่งในจุฬา ที่เรียนภาคไฟฟ้า

Powered by Bootstrap 4 Github Pages