Table of Content

เรื่องของโรงงานก๋วยเตี๋ยวแห่งหนึ่ง

Table of Content

...

ปล. รูปภาพไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด ใส่ไว้ให้น่าสนใจเฉยๆ

เมื่อวานเราฝันยาวจริงๆ

ฝันว่ามีโรงงานทำก๋วยเตี๋ยวใหญ่มาก เก่าแก่และมีชื่อเสียง มีเจ้าของร้านเป็นผู้นำสูงสุด ผลัดวนเป็นเจ้าของมาหลายชั่วรุ่นคน มีคนงานเป็นพันคนมาอยู่ในบริษัทและทำงานในหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป หลายๆ คนเป็นยามเฝ้าโรงงาน (ที่ชอบยึดอำนาจเป็นผู้บริหารบ่อยๆ) บางคนทำงานเป็นคนทำลูกชี้น บางคนทำซุป บางคนทำเส้น ฯลฯ โดยที่เจ้าของโรงงานเค้าก็ใจดี อยากให้โรงงานเป็นประชาธิปไตย ก็เลยให้มีผู้บริหารที่เลือกมาจากลูกจ้างทุกคน (เมื่อคืนฝันละเอียดถึงขนาดว่าตอนนี้ผู้บริหารเป็นหัวหน้ายามที่ตัดสินใจยึดอำนาจเป็นผู้บริหารเอง เพราะคนเก่าไม่ค่อยดี บอกว่าจะอยู่ไม่ค่อยนาน แต่ตอนนี้ก็อยู่มาได้เกือบห้าปีแล้ว และโรงงานกำลังจะเลือกผู้บริหารคนใหม่ เห็นว่าเป็นคนแต่งเพลงเก่งมาก แต่งเพลงให้โรงงานมาหลายเพลง)

หลายปีที่แล้ว ผู้บริหารของโรงงานทำก๋วยเตี๋ยวเห็นว่าก๋วยเตี๋ยวของโรงงานไปสู้กับอาหารของที่อื่นไม่ได้ โรงงานทำชาเอย โรงงานทำแฮมเบอร์เกอร์เอย พวกนี้เริ่มตีตลาดมากขึ้น ก๋วยเตี๋ยวของเราจะไปสู้พวกมันได้อย่างไรกัน ตอนนั้นคนที่เริ่มคิดค้นวิจัยก๋วยเตี๋ยวก็เลยเสนอว่า เอ้อ ทำไมเราไม่ตั้งโรงเรียนมาสำหรับฝึกให้นักเรียนทำวิจัยก๋วยเตี๋ยวเลยล่ะ

หลังจากนั้นไม่นาน ก็เลยมีการก่อตั้งโรงเรียนสอนทำวิจัยก๋วยเตี๋ยวขึ้น ตอนแรกไปยืมที่ศาลเจ้า Ginger garden มาเป็นโรงเรียนก่อน หลังจากนั้นประมาณสองสามปีก็ย้ายที่มาที่ปัจจุบัน โดยมีครูใหญ่ที่บุกเบิกโรงเรียนอันเป็นตำนานมากที่สุดคือคุณไตรรงค์ ท่านเป็นคนที่มีอุดมการณ์มาก ว่านักเรียนของโรงเรียนนี้จะไปเป็นนักวิจัยก๋วยเตี๋ยวที่มีคุณภาพ quote เด็ดของเขาเลยก็คือ “ถ้าเด็กรักโรงเรียนจริง แม้มีแค่เส้นก๋วยเตี๋ยวมาคั่นก็ไม่ออกนอกโรงเรียน”

เด็กนักเรียนของโรงเรียนนี้จะเป็นเด็กที่ต้องเก่งมากๆ จาก 2000 คนจะคัดให้เหลือแค่ 24 คนต่อรุ่นเท่านั้น นักเรียนจะต้องเรียนหลักสูตรให้ครบทุกอย่างเพื่อที่จะทำก๋วยเตี๋ยวอย่างครบวงจร ทั้งการทำซุป การทำลูกชิ้น และการทำเส้น รวมถึงการบริหารร้านด้วย แน่นอนว่าส่วนใหญ่เกรดของเด็กในโรงเรียนนี้ก็จะได้ยากตามเนื้อหาที่โคตรจะล้ำลึก แต่เราต้องไปเป็นนักวิจัยก๋วยเตี๋ยว เรื่องแบบนี้เราจะพลาดได้อย่างไรกัน

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นต้องนวดแป้งไม่น้อยกว่า 40 ครั้งต่อหนึ่งเทอม หรือต้องวิจารณ์ชามก๋วยเตี๋ยว (และต้องเป็นชามก๋วยเตี๋ยวที่มีสันเขียวด้วยนะเออ) อีก 50 ชามภายในสามปี ถ้าเป็นชามจากต่างประเทศก็จะได้ 2 เท่าเลย แถมต้องฟังบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญด้านก๋วยเตี๋ยวอีก 8*2 ครั้ง ต้องไปดูงานที่โรงงานก๋วยเตี๋ยวอีก 8 ครั้ง โรงงานทำลูกชิ้นอีก 3 ครั้ง ต้องชุมนุมความรู้ก๋วยเตี่ยวอีก 12 หน่วยกิต และก็ยังต้องรำบูชาก๋วยเตี๋ยวเพื่อสืบทอดประเพณีที่ดีงามของร้านก๋วยเตี๋ยวที่มีอย่างยาวนานอีกด้วย แถมแต่ละเทอมก็อาจจะมีกิจกรรม SNEM ซึ่งย่อมาจาก Soup, Noodle, Egg and Meat ball ซึ่งนักเรียนแต่ละห้องจะมาชิงชัยกันทำก๋วยเตี๋ยวแข่งกันตามโจทย์ที่กำหนด

กิจกรรมอย่างอื่นก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน กิจกรรมควิชดิชที่มีทั้งหมดสี่ทีมทุกปีก็เป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน และยังมีกิจกรรมละครก๋วยเตี๋ยวที่จัดใหญ่ จัดหนัก ส่วนที่สำคัญที่สุดที่เด็กปีสองในโรงเรียนต้องทำคือการทำโครงงานก๋วยเตี๋ยว อะไรอย่างงี้ ซึ่งก็มีหลายโครงงานที่ได้ไปแข่งในต่างโรงงานด้วย โครงการแลกเปลี่ยนก็เป็นโครงการหนึ่งที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ความรู้จากโรงงานอื่นๆ เช่นกัน ทุกปีจะมีการจัดไปโรงงานทำชา โรงงานทำไส้กรอก (ที่ตอนนี้เจ้าของร้านชอบไปบ่อยๆ) โรงงานทำชูชิ โรงงานทำกิมจิ ฯลฯ

สิ่งที่สำคัญมากๆ ในวงการวิชาการก๋วยเตี๋ยวอีกโครงการหนึ่งคือ โครงการขออวน ซึ่งเป็นโครงการที่ให้นักเรียนเรียนเนื้อหาพิเศษในช่วงปิดเทอม ไม่ว่าจะเป็นการทำซุป ทำเส้น ทำลูกชิ้น และมีการคัดผู้แทนโรงเรียนไปแข่งระหว่างโรงเรียนด้วย ถ้าได้เข้าไปถึงรอบค่ายของสถาบันส่งเสริมการสอนทำก๋วยเตี๋ยวก็อาจจะได้ไปเป็นผู้แทนทำซุปทำเส้นระหว่างโรงงาน เป็นชื่อเสียงให้กับโรงงานและโรงเรียนเป็นอย่างมาก

กิจกรรมมากมายขนาดนี้ ความรู้อัดแน่นมากขนาดนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นักเรียนโรงเรียนนี้มีอุดมการณ์ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงกันแน่นะ

นักเรียนบางคนตอนแรก เข้ามาด้วยความรักในการทำก๋วยเตี๋ยวเป็นอย่างมาก บางคนอยากทำซุป ทำเส้น ทำลูกชิ้น แต่พอเจอเนื้อหาในโรงเรียนเข้าไปก็แทบอ้วก อยากจะเปลี่ยนอาชีพไปเป็นยามเลยก็มี

นักเรียนบางคนเจอเนื้อหายากๆ เข้าไป ปรากฏว่าอาจารย์สอนก็กลับงงอีก แถมเนื้อหาก็ไม่ได้ตรงกับที่จะไปสอบคัดเข้าโรงเรียนชั้นสูงต่อไป หลายๆ คนก็ตัดสินใจไปเรียนทำซุปทำเส้นแบบพิเศษกับคนอื่นบ้างก็มี ก็กลายเป็นว่าเรียนหนักกว่าเดิม

นักเรียนบางคนเจอค่านิยมของพ่อแม่เข้าไป ว่าไปเป็นเจ้าหน้าที่ในห้องพยาบาลดีกว่านะลูก เงินเดือนเยอะกว่าพวกที่ต้องมาทำซุป ทำเส้นก็เยอะ (ผู้ปกครองบางคนยังไม่เห็นภาพเลยด้วยซ้ำว่าเดี๋ยวนี้เค้าทำซุปทำเส้นกันยังไง) หลายๆ คนก็เลยตัดสินใจเข้าไปทำงานห้องพยาบาลไปจนเกือบหมอ เอ้ย เกือบหมด

นักเรียนบางคนยิ่งแล้วใหญ่ กดดันให้ตัวเองเข้าค่ายขออวน ไปแข่งทำซุปทำเส้นกับหลายๆ โรงเรียนเก่งๆ ทั้งโรงเรียนเตรียมอูด้ง โรงเรียนกำเนิดชีส โรงเรียนเตรียมอาหาร โรงเรียน Rose garden จนลืมไปว่าตัวเองต้องการอะไร

นักเรียนบางคนรู้สึกว่าโรงงานทำก๋วยเตี๋ยวมีคอร์รัปชั่นเยอะ ระบบทำงานก็ไม่ดี (เดี๋ยวยามหน้าโรงงานก็ยึดอำนาจอีก) เงินเดือนก็ต่ำกว่าถ้าเทียบกับไปโรงงานข้างเคียง ก็หมดกำลังใจที่จะทำงานในร้านก๋วยเตี๋ยวต่อไป ถึงแม้ว่ารุ่นพี่ก่อนที่จะจบ จะมีงานที่รุ่นพี่มาผูกเส้นก๋วยเตี๋ยวให้รุ่นน้องเยอะโคตรๆ เพื่อสานต่ออุดมการณ์แห่งก๋วยเตี๋ยว มีหลายๆ คนที่ยังเคยได้ยินคำว่าพวกเราเป็นหัวรถจักรที่จะเอาร้านก๋วยเตี๋ยวเดินทางไปทางที่เจริญก้าวหน้า แต่จริงๆ แล้ว เขากำลังสืบทอดอุดมการณ์กันอยู่จริงหรือเปล่า

แต่เอาความคิดของเราที่มองต่อโรงเรียนทำก๋วยเตี๋ยวในตอนนี้นะ เราคิดว่าสิ่งที่โรงเรียนต้องการจริงๆ คือ

“ใช้สมองเต็มที่หรือเปล่า แล้วมันเกิดประโยชน์หรือก่อโทษ”

เราคิดว่าอาจารย์หลายๆ คนในโรงเรียนทำก๋วยเตี๋ยวไม่ได้ต้องการให้นักเรียนทำงานในโรงงานก๋วยเตี๋ยวขนาดนั้นหรอก (แต่ก็หวังไว้เฉยๆ) ไม่ได้อยากให้นักเรียนเติบโตแล้วต้อง fix ให้ไปทำซุป ทำเส้น ทำลูกชิ้นอย่างเดียว หลายๆ คนที่เข้าห้องพยาบาลไปก็มีนวัตกรรมรักษาใหม่ๆ เยอะแยะที่ทำให้คนในโรงงานไม่ต้องพึ่งห้องพยาบาลของต่างโรงงานมากนัก (ความจริงแล้วสวัสดิการในโรงงานทำก๋วยเตี๋ยวดีมากเลยนะ มีโครงการ 30 ตำลึงรักษาทุกโรคด้วย) บางคนที่ไม่ได้ทำงานร้านก๋วยเตี๋ยว แต่ไปทำโรงงานอื่นๆ ก็สร้างผลงานและชื่อเสียงมากมาย หลายๆ คนตอนนี้ก็เริ่มกลับมาสอนทำซุป ทำเส้นในโรงงานแห่งนี้บ้างแล้ว

บางที คนในโรงงานอาจจะต้องคิดใหม่ว่า ถึงแม้โรงงานนี้จะโหลย คนหลายๆ คนในโรงงานยังขาดความรู้ ผู้บริหารหลายคนยังมีคอร์รัปชั่น บางทีในโรงงานสกปรกเพราะมีคนมักง่าย มลพิษบางทีก็เยอะมาก แถมด่าเจ้าของโรงงานก็ไม่ได้อีก แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดที่คนในโรงงานควรจะมีความรับผิดชอบร่วมกัน (หากหนีไปโรงงานอื่นไม่ได้ 555) คือพยายามทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด พยายามตื่นตัว ใช้สิทธิและเสียง เลือกคนดีเข้ามาเป็นผู้บริหาร เหมือนกับที่เจ้าของร้านคนก่อนเคยบอกเอาไว้เยอะมากๆ และถึงตอนนี้แม้ว่าผู้บริหารจะมีปืนติดอยู่กับตัวและพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่ออำนาจแห่งร้านก๋วยเตี๋ยวต่อไป แต่เชื่อสิ ทั้งคนงาน เจ้าของร้านและครอบครัว หรือแม้แต่พวกยามเอง เค้าจะยอมจริงๆ เหรอ ก็เห็นอยู่ว่าห้าปีโรงงานชะงักชะงันมานานมากแล้ว ถึงจะแจกเงินคนละ 500 ชั่งก็ไม่มีใครยอมหรอก

ในฐานะที่ฝันทั้งคืน และได้อยู่ในโรงเรียนทำก๋วยเตี๋ยวแห่งนั้น ก็สัมผัสได้ว่านักเรียนในโรงเรียนแห่งนั้นจะไม่รักโรงงานทำก๋วยเตี๋ยวเลยจริงๆ เหรอ เงินก็ให้มาเยอะ แถมน้องสาวของเจ้าของร้านคนปัจจุบันก็มาเยี่ยมมาดูผลงานก๋วยเตี๋ยวของเราอยู่บ่อยๆ คราวที่พิพิธภัณฑ์รวมชามก๋วยเตี๋ยวในโรงเรียนไฟไหม้หนักๆ ท่านก็ให้เงินมาซ่อม

แต่เราก็ไม่ได้คาดหวังให้ทุกคนในโรงเรียนทำก๋วยเตี๋ยวแห่งนี้อยู่ในโรงงานก๋วยเตี๋ยวต่อไปหรอก เพราะบางคนก็ไม่ชอบทำก๋วยเตี๋ยว ชอบทำไส้กรอกก็มี ชอบทำพิซซ่าก็มี ชอบทำซูชิก็มี อยากไปทำงานในห้องพยาบาลก็มี เราคิดว่า นักเรียนที่มาจากโรงเรียนแห่งนั้นก็เก่งกันทุกคน เอาเป็นว่า อยู่ในที่ที่เหมาะสมกับตัวเอง และทำสิ่งที่ตัวเองรัก จะดีที่สุด

นั่นแหละน่าจะเป็นอุดมการณ์ที่โรงเรียนแห่งนั้นน่าจะอยากให้เป็น รวมถึงเจ้าของโรงงานและครอบครัว ผู้บริหาร ครูใหญ่ของโรงเรียน และอาจารย์ทุกๆ คนด้วย.

ปล. เรื่องราวทั้งหมดเป็นความฝัน ไม่ได้เกิดจากการอุปมาอุปไมยอย่างใดเลย (จริง จริ้งๆๆๆ)

ปล.2 คนที่ช่วยคิดเนื้อเรื่อง (เผื่อต้องหาร) Jirapat Wattanaruangkowit Mammoth Maneesilp

Nutchanon J's Stories

รวมบทความของนิสิตคณะวิศวะฯ คนหนึ่งในจุฬา ที่เรียนภาคไฟฟ้า

Powered by Bootstrap 4 Github Pages