Table of Content

One Step At A Time

Table of Content

...

มีคนที่เถียงกันมานับไม่ถ้วนแล้วครับ ว่าตกลง ชีวิตเราควรจะปล่อยให้เลยตามเลยตามธรรมชาติ หรือควรที่จะต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความดีงาม ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ควรจะทำได้

ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็เช่น อายุของเราที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเราปล่อยให้เลยตามเลย ใบหน้าของเราก็จะเหี่ยวย่นตามกาลเวลา แต่ถ้าเราต่อสู้ดิ้นรน เราอาจต้องซื้อครีมบำรุงหรือสิ่งที่คล้าย ๆ กัน เพื่อรักษาวัยเยาว์ของเราเอาไว้ แต่สุดท้ายใบหน้าของเราก็จะย่นเหี่ยวไปตามกาลเวลาอยู่ดี เพราะเราสู้ความจริงในดีเอ็นเอไม่ได้

หรือแม้แต่ในเรื่องการเรียนหรือการทำงาน เราบอกว่าเราจะทำพอเอาข้าวสารกรอกหม้อ มีเงินพอที่จะเก็บยันวัยชรา ก็สามารถทำได้ หรือถ้าเราต่อสู้ดิ้นรน เราอาจจะได้โบนัสเพิ่มขึ้น เกรดเพิ่มขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น ก็ย่อมได้ แต่เหนื่อยและอาจเสียเวลาไปกับเรื่องอื่น ๆ เช่น เวลากับครอบครัว หรือเวลาที่ทำงานอดิเรกต่างๆ

สำหรับคนที่กำลังสู้ และรู้สึกกำลังท้อแท้ เรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่เข้ามาในความคิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในการคุมนักฟุตบอลทีมชาติไทยของโค้ชชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง (น่าจะทราบชื่อแล้วนะครับ) เรื่องราวนี้ผมไปฟังจาก podcast ของ the standard มา (ถ้าจำไม่ผิดนะ) ผมเชื่อว่า เกือบทุกคนที่เป็นคนไทยค่อนข้างจะสิ้นหวังกับการเข้าฟุตบอลโลกของทีมชาติไทยไปแล้ว แต่สิ่งที่โค้ชชาวญี่ปุ่นปลูกฝังกับนักฟุตบอลทุกคน ตอนที่เข้ามาเป็นโค้ช เขาบอกอยู่เสมอว่า

“เป้าหมายของเราคือ ฟุตบอลโลก 2022”

แน่นอนครับว่าเขาไม่ได้ทำเพียงเท่านั้น นิสัยและทัศนคติที่ดีของเขายังถูกปลูกฝังแก่ลูกทีม ไม่ว่าจะเป็นการตรงต่อเวลา (อย่างมาก) และความรับผิดชอบต่างๆ แม้ว่าในที่สุดทีมชาติไทยจะไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าฟุตบอลโลกในปี 2022 แต่โค้ชท่านนนี้ก็บอกเลยครับว่า “เป้าหมายต่อไป ฟุตบอลโลก 2026”

แสดงว่าไม่มีความท้อถอยเลยแม้แต่น้อย (แม้ว่าโค้ชท่านนี้จะอายุมากแล้วก็ตาม)

แม้แต่ในทางพระพุทธศาสนานั้นก็มีเรื่องราวที่คนเถียงกันเรื่องนี้ไม่น้อยทีเดียว แม้ว่าแก่นของพุทธศาสนาจะสอนให้คน “ยอมรับความจริง” แต่ไม่มีคำสอนใดเลยที่สอนให้ละทิ้ง “ความเพียร” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้สาวกหลาย ๆ ท่านได้บรรลุธรรมในขั้นต่าง ๆ ได้สำเร็จ เพราะฉะนั้นคำว่า “ยอมรับความจริง” เช่น ยอมรับว่าห่วยแตก ยอมรับว่านิสัยเสีย ยอมรับว่าสิ่งที่ดีสุดท้ายก็เสื่อมตามเวลานั้น ต่างจาก “การแก้ไข” ซึ่งสามารถทำได้ไม่ว่าความจริงตอนนั้นจะเป็นอย่างไร (ภายใต้เงื่อนไขของฟิสิกส์ในเอกภพเราอ่านะครับ)

หลาย ๆ ครั้ง ผมเข้าใจนะครับ สำหรับคนที่กำลังสู้เพื่อถึงจุดหมายบางอย่างที่สูงมาก ๆ ฝรั่งบางคนอาจจะเคยพูดไว้ว่า “One Step At A Time” หมายถึงค่อย ๆ ก้าวเดินต่อไปเรื่อย ๆ ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนอะไรเลย แต่บางคนก็อาจจะให้ “Think Big” ก็คือคิดการใหญ่ไว้ก่อน

ผมของยกตัวอย่างสามสตาร์ทอัพที่จะเป็นตำนาน (และบทเรียน) ให้กับคนรุ่นหลังนะครับ ได้แก่ OYO, WeWork และ Theranos ซึ่งเป็นสามสตาร์ทอัพที่ผลาญเงินของเจ้าหนี้และไม่ประสบความสำเร็จ

สำหรับ OYO เนี่ย เป็นสตาร์ทอัพของหนุ่มไฟแรงท่านหนึ่งในอินเดีย ที่เห็นช่องทางว่าโรงแรมของอินเดียส่วนใหญ่ค่อนข้างเละเทะ เขาก็เลยทำธุรกิจ “เช้าห้องโรงแรมและปรับปรุง” (ผมขอให้คำนี้ละกันนะครับ) และให้คนมาเช่าห้องผ่าน app ของเขา และเก็บกำไรส่วนต่าง ซึ่งตอนแรก ๆ ก็ไปได้สวยเลยนะครับ เพราะ “สมมติฐาน” ของชายหนุ่ม CEO คนนี้ค่อนข้างเป็นจริงพอสมควร

และแล้ว ก็มีธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งที่ชื่อว่า Softbank มาเสนอให้ OYO คิดใหญ่ซะหน่อย โดยการขยายธุรกิจให้ไปไกลถึงต่างประเทศ (ในประเทศไทยก็มีนะครับ บางคนน่าจะเคยเห็น) ซึ่ง CEO ของ OYO ก็ทำตามที่ Softbank กล่าวนั่นล่ะครับ แต่เขาลืมไปว่า ที่ต่างประเทศไม่เหมือนอินเดีย โรงแรม (ยกตัวอย่างเช่นจีนและไทย) มีความหรูหราและเป็นพันธมิตรกันอยู่แล้ว แถมยังมีคู่แข่งที่เป็น app เหมือนกับเขามากมายเช่น trivago ฯลฯ ที่ไม่ต้องเสียค่าปรับปรุงห้องโรงแรมเลยด้วยซ้ำ ทำให้การขยายธุรกิจครั้งนั้น “เจ๊งหนัก”

ส่วนของ WeWork เริ่มต้นโดยหนุ่มนักธุรกิจไฟแรงในอเมริกาที่อยากทำ working space ให้เช่า ซึ่งผมไม่ได้ตามช่วงแรก ๆ นะครับว่าเขาทดลองทำแบบ small scale ก่อนรึเปล่า มาตามอีกทีตอนที่ Softbank (อีกแล้วเหรอ!?) มาทุ่มเงินแล้วอ่านะครับ ซึ่งก็ขยายกิจการอย่างรวดเร็วตามเคย แต่ก็เจ๊งเหมือนกัน

สำหรับ Theranos นี่เป็นของหญิงสาวที่แต่งตัวคล้ายสตีฟ จ๊อบ ท่านหนึ่ง (ขอไม่เอ่ยนาม) นางสาวคนนี้เรียน Stanford เข้าคณะวิศวกรรมเคมี และได้ทำวิจัยเกี่ยวกับการแพทย์ที่สิงคโปร์ช่วงหนึ่งด้วยนะครับ หลังจากนั้นนางสาวก็ลาออกมาตอนปีหนึ่ง เพื่อที่จะมาเริ่มทำสตาร์ทอัพที่ต้องการทำเครื่องมือแพทย์ “ตรวจเลือดหยดเดียวแล้วรู้แม่งทุกโรค” แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว โดยเฉพาะตอนหลังที่ต้องเริ่มขายเครื่องมือแล้ว ทั้ง ๆ ที่เครื่องมือยังมีช่วงของความมั่นใจน้อยมาก ทำให้บริษัทถูกเปิดโปงในช่วงนั้น (ความจริงบริษัทอาจไปได้สวยกว่านี้ถ้านางสาวคนนี้ยอมทนเรียนต่อไปอีกสักหน่อย)

สิ่งที่ผมอยากจะสรุปก็คือ “One Step At A Time” กับ “Think Big” สามารถทำร่วมกันได้ครับ แต่ต้องอยู่ในพื้นฐานของความเป็นจริง และที่สำคัญคือต้อง “วางแผน” และมี “ความเพียรพยายาม” แล้วถ้ามันไม่ได้ประสบความสำเร็จภายในเวลาที่คาดหวัง ก็นึกถึงคำพูดของ Bill Gate ไว้ครับว่า “คนเราหวังมากเกินไปภายในเวลาหนึ่งปี แต่มองการณ์ไกลไม่ถึงว่าสิบปีจะได้ขนาดไหน”

ผมเชื่อครับว่า out there in this world หรือแม้แต่ท่านผู้อ่านก็ตาม คงมีประสบการณ์ที่ได้ “ประสบความสำเร็จ” บางคนอาจเคยวาดรูปได้ที่หนึ่ง บางคนเล่นกีฬาเก่งมาก บางคนอาจจะเรียนได้ดี ฯลฯ เจ้าผลลัพธ์ที่เชิดชูให้ทุกคนเห็น ต่างก็มีเบื้องหลังที่ทรหด ซึ่งคนที่ผ่านเส้นทางนั้นเองถึงจะรู้ว่าเป็นอย่างไร เล่าให้ฟังก็คงไม่อิน

หมายเหตุ: ก่อนจบบทความนี้ ความจริงผมตั้งใจเขียนให้น้องคนหนึ่งที่ผมสอนพิเศษอยู่ คือแม่ของเขาอยากให้น้องเข้าเตรียมฯ ให้ได้ (ไม่บอกว่าเตรียมไหนนะครับ อาจจะเป็นเตรียมทหารก็ได้ 555) แต่ตอนสอนแรกน้องเขาอ่อนคณิตมาก หลาย ๆ ครั้งผมก็แอบคิดว่าเอาเกรดโรงเรียนให้ดีก่อนแล้วค่อยคิดเรื่องเข้าเตรียมฯ (ซึ่งความเป็นไปได้มันก็น้อยอยู่ดีอ่าครับ) แต่หลังจากที่สอนไปได้เทอมกว่า ๆ น้องเขาก็ดีขึ้นมาเรื่อย ๆ จนเพิ่มเกรดที่ปกติจะได้แค่ประมาณ 2 – 3 มาเป็น 4 ในเทอมล่าสุด แล้วคุณแม่ของน้องก็ถามบ่อยมาก ๆ ว่าตอนนี้มีโอกาสติดไหม ไปถึงครึ่งทางแล้วหรือยัง อันนี้แม้แต่ผมผมก็ไม่กล้าตอบ เพราะเรื่องแบบนี้ความจริงมันต้องเตรียมตัวมาเป็นหลายปีนะครับ (อันนี้คือความจริงที่ต้องรับให้ได้ก่อน) แต่รับความจริงได้ไม่พอครับ มันก็ต้อง “One Step At A Time” ไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่ามันก็ดีขึ้นได้จริง ๆ

ตอนนี้ผมก็คงทำเหมือนโค้ชญี่ปุ่นน่ะครับ “เป้าหมายต่อไป เข้าเตรียมฯ ให้ได้!!!” แต่ถ้าไม่ได้ก็จะบอกว่า “เป้าหมายต่อไป คณะ(ที่อยากได้)!!!” เพราะผมก็อยากให้น้องเชื่อว่าเค้าทำได้จริงๆ อ่ะนะครับ

Photo credit: u/your_nameless_friend in Reddit

Nutchanon J's Stories

รวมบทความของนิสิตคณะวิศวะฯ คนหนึ่งในจุฬา ที่เรียนภาคไฟฟ้า

Powered by Bootstrap 4 Github Pages