Table of Content
เทคโนโลยี 6G เป็นเรื่องของการเมืองอีกหรือเปล่า
Table of Content
(บทความนี้แปลแบบโท่ง ๆ มาจาก IEEE Spectrum ถ้ามีความคิดเห็นส่วนตัวจะวงเล็บเอาไว้แล้วเขียนว่า แอบคิด)
การที่สหรัฐอเมริกาไม่มีผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารเชิงพื้นฐาน (Infrastructure) รายใหญ่เลย (เมื่อเทียบกับในระดับโลก) ทำให้การเข้ามามีอิทธิพลในเทคโนโลยี 6G ของสหรัฐฯ นั้นอาจจะยากกว่าที่คิดไว้ แน่นอนว่าในอนาคต หลาย ๆ บริษัทตัวเป้ง ๆ ของสหรัฐฯ จะเข้ามาร่วมการกำหนดมาตรฐานของเทคโนโลยี 6G โดยแน่แล้ว แต่โดยภาพรวม ผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารรายใหญ่ต่าง ๆ กลับอยู่นอกสหรัฐทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น
- Ericsson (สวีเดน)
- Nokia (ฟินแลนด์)
- Huawei (จีน)
- Samsung (เกาหลีใต้)
การที่บริษัทต่าง ๆ ที่ผลิตอุปกรณ์หน้าที่ต่างกันก็ทำให้สถานการณ์ดูซับซ้อนมากขึ้นไปอีก ยกตัวอย่างเช่นผู้ผลิตอุปกรณ์ส่งสัญญาณ (ตัวใหญ่ก็เช่น Huawei และ ZTE) ก็จะคำนึงถึงเรื่องของการส่งสัญญาณในระยะที่ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยมีสัญญาณรบกวนน้อยที่สุด ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์พกพาเช่นโทรศัพท์ (ตัวท๊อปก็เช่น Apple หรือ Alphabet เจ้าของ Google) ก็จะมองในแง่ของเรื่องการประหยัดพลังงานเสียมากกว่า
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการพูดคุยเชิงเทคนิคในประชุมทางวิชาการต่าง ๆ ในปีที่ผ่านมา (ทั้งของ Globecom และ IEEE Communication Society) ต่างก็ยังไม่ได้ประชุมอย่างละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้
โดยปกติแล้วการกำหนดมาตรฐานการสื่อสารจะทำผ่านสมาคม 3rd Generation Partnership Project: 3GPP ซึ่งก็ไม่เคยมีปัญหาอะไรมากนักในเทคโนโลยีรุ่นที่ผ่าน ๆ มา แต่ล่าสุดที่มีการกำหนดมาตรฐานของ 5G นั้น ก็มีความวุ่นวายพอสมควรเพราะเรื่องทางการเมือง (จีน - สหรัฐ) แน่นอนว่าสิ่งนี้น่าจะส่งผลกระทบมาถึงการกำหนดมาตรฐานของ 6G ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย
ที่ผ่านมาในปี 2016 ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานของ 5G นั้น มีการโต้เถียงกันอย่างร้อนแรงในเรื่องที่ว่าจะใช้เทคนิคการแก้ไขข้อผิดพลาดของข้อมูลที่รับส่ง (error-correcting technique) อย่างไร ทางฝั่ง Qualcomm ของสหรัฐฯ ได้เสนอให้ใช้วิธีแบบ LDPC ซึ่งมีการเสนอมาเป็นทศวรรษแล้วแต่ยังไม่เคยนำมาใช้จริงเชิงมหภาค แต่ในขณะเดียวกันที่ Huawei ฝั่งจีนก็เสนอให้ใช้เทคนิค polar code ซึ่งดันใช้ทั้งเวลาและพลังงานมากกว่าแบบ LDPC มาก (พูดง่าย ๆ คือประสิทธิภาพน้อยกว่า? - แอบคิด) จนสุดท้ายข้อเจรจาบรรลุผลที่ว่ามาตรฐานของ 5G นั้นจะใช้ทั้งสองเทคนิค แต่ใช้บนคนละส่วนของการส่งข้อมูลแยกขาดจากกัน
แน่นอนว่านี่คือการแสดงออกทางการเมือง (aka: ขิง) ทางเทคโนโลยีอย่างมาก โดยเฉพาะฝั่งของจีนที่ใช้เทคนิค polar code ซึ่งแทบจะไม่เปิดเผยข้อมูลออกมาเลยว่าทฤษฎีทางคณิตศาสตร์เป็นอย่างไร เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเกมทางเทคโนโลยีนั้นเป็นเรื่องที่ “เสียหน้าไม่ได้” มากเพียงใด
(หมายเหตุ: สำหรับ polar code ความจริงแล้ว Huawei ไปขอมาจาก Dr. Erdal Arikan จาก MIT ซึ่งขนาดเจ้าตัวเองยังบอกว่าของใหม่มาก กล้าเอาไปใช้รึ แต่ Huawei ยอมเสี่ยงเอาไปใช้และพัฒนาต่อ)
หลังจากนั้นในปี 2019 สถานการณ์ของสงครามเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและจีนก็ประทุขึ้น จนมีคำสั่งห้ามซื้อขายของจากหลายบริษัทของจีน รวมถึง Huawei ก็โดนไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้ร้อนไปยังอุตสาหกรรมสื่อสารอย่างมาก เพราะการปิดกั้นทางเทคโนโลยีแบบนี้จะทำให้แต่ละบริษัทต้องผลิตชิ้นส่วนแยกต่างหากสำหรับพื้นที่และตลาดที่แตกต่างออกไป
การพัฒนาของเทคโนโลยี 6G นั้นเริ่มมีการแยกออกไปทำวิจัยกันเองในหลายส่วนของโลก เพื่อรอวันที่มาตรฐานของตนเองจะได้บรรจุเข้าไปสู่มาตรฐานระดับนานาชาติในอนาคต สำหรับในยุโรปนั้น กฎหมายเรื่องความเป็นส่วนตัวค่อนข้างที่จะรุนแรงทำให้นักวิจัยพัฒนาหลาย ๆ เทคนิคเพื่อบรรลุผลดังกล่าว เช่น differential privacy หรือ federated learning และสำหรับในสหรัฐฯ นั้น ก็มีการก่อตั้ง Next G Alliance เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี 6G แบบองค์รวม โดยเน้นไปที่การมองจากผู้ใช้งานจริงและการประยุกต์ใช้ เช่นในด้านการเกษตรและสาธารณสุข
แน่นอนว่าการกำหนดมาตรฐานของเทคโนโลยี 6G ครั้งนี้นั้นน่าจะเป็นอีกครั้งที่ค่อนข้างร้อนระอุกว่าในการกำหนดมาตรฐานของ 5G เสียอีก สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นได้จะทำให้อุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ ไม่สามารถใช้งานได้ในทุก ๆ ทีเหมือนกับแต่ก่อน เช่น ถ้าไปเที่ยวจีนอาจต้องเปลี่ยนโทรศัพท์ หรือบริษัท A อาจต้องยกเลิกสัญญาซื้อขายอุปกรณ์กับบริษัท B ไปเพราะอุปกรณ์ไม่เข้ากัน ทำให้ Supply chain ขัดตอนไปอีก เป็นต้น
ซึ่งสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ยังคงต้องรอติดตามกัน แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ ครั้งนี้มันจะมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้มากกว่าการกำหนดมาตรฐาน G ต่าง ๆ ที่ผ่านมา