Table of Content

ปี 1985: การแตกเป็นเสี่ยงของบริษัทยักษ์ใหญ่ Bell System

Table of Content

...

เมื่อนึกถึงกฎหมายควบรวมกิจการของไทยแล้ว แน่นอนว่าเรายังไม่เคยได้เห็นกฎหมายการต่อต้านการผูกขาดอย่างเป็นกิจลักษณะเลย

ยกตัวอย่างเช่น การควบรวมกิจการของ Tesco กับ CP ซึ่งเกิดขึ้นไปแล้วโดยมีเงื่อนไข 7 ข้อจากสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ลองมาดูกันว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้างที่ต้องเกิดขึ้น เพราะการควบรวมดังกล่าวทำให้การแข่งขันลดลงอย่างเห็นได้ชัด

  1. ห้ามธุรกิจในเครือควบรวมธุรกิจค้าปลีกค้าส่งรายอื่นนาน 3 ปี ไม่รวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
  2. หลังควบรวมแล้วให้เพิ่มสัดส่วนสินค้าจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี
  3. หลังควบรวมแล้วห้ามมิให้ใช้หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาด
  4. ให้คงสัญญาที่ทำไว้กับซัพพลายเออร์ 2 ปี
  5. กำหนดระยะเวลาเครดิตเทอม กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นเวลา 30-45 วัน เป็นเวลา 3 ปี
  6. ให้รายงานผลประกอบการต่อ กขค. เป็นเวลา 3 ปี
  7. หลังควบรวมแล้วให้จัดทำ code of conduct เผยแพร่ต่อสาธารณะ

ซึ่งแน่นอนว่าสาเหตุของเงื่อนไขดังกล่าวเกิดจากการที่เมื่อควบรวมแล้วจะทำให้การครอบครองตลาดมีร้อยละเป็นเกือบ 70% (อ้างอิงจาก BIOTHAI)

และอีกกรณีหนึ่งคือการควบรวมที่อาจกำลังจะเกิดขึ้นของ TRUE และ DTAC ซึ่งหากนึกถึงเรื่องนี้แล้ว อดคิดถึงกรณีของ AT&T ของสหรัฐฯ ไม่ได้

สำหรับในสหรัฐอเมริกานั้น การแตกแยกกิจการออกที่ใหญ่ที่สุดซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายต่อต้านการผูกขาดนั้น น่าจะเป็นกรณีของ Bell System (มีอีกชื่อว่า AT&T) ในปี 1985

Bell System เป็นกลุ่มบริษัทสื่อสารขนาดใหญ่มากของอเมริกา ก่อตั้งตั้งแต่ปี 1887 โดยนักประดิษฐ์โทรศัพท์ที่ทุกคนน่าจะเคยได้ยินชื่อ: Alexander Graham Bell

ในช่วงที่กลุ่มบริษัท Bell System ถูกแยกกิจการออก มูลค่าของบริษัท ณ ตอนนั้นสูงถึง 150 พันล้านดอลลาร์ หรือถ้าแปลงตามอัตราเงินเฟ้อก็จะเทียบได้กับ 370 พันล้านดอนลาร์ หรือประมาณ 12.5 ล้านล้านบาท ซึ่งมีค่าประมาณบริษัท Intel กับ AMD มารวมกันในปัจจุบัน

ในช่วงก่อนที่กลุ่มบริษัท Bell System จะถูกสลายเป็นบริษัทย่อยนั้น ตัวกิจการเองมีพฤติกรรมหลายอย่างมากที่มีความผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้ต้องใช้โทรศัพท์ของ AT&T เท่านั้น, ไม่ขายโทรศัพท์ให้ด้วยแต่ต้องเช่าเป็นรายเดือนเอา, ฯลฯ

เมื่อมีการแตกบริษัทออกแล้ว บริษัททั้งหลายที่แตกออกถูกเรียกเป็นชื่อเล่นน่ารัก ๆ ว่า Baby Bells ถึง 8 บริษัท (รวมยานแม่ AT&T) โดยมีรายชื่อดังนี้ คือ NYNEX, Pacific Telesis, Ameritech, Bell Atlantic, SBC, BellSouth, US West

หลังจากการแตกออกของบริษัทนั้น ผู้บริโภคทางโทรคมนาคมของอเมริกาต่างก็ได้รับผลประโยชน์ทางการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกธรรมเนียมว่าให้เช่าโทรศัพท์เป็นการขายโทรศัพท์แทน ทำให้ราคาโทรศัพท์ลดลง และทำให้คุณภาพของโทรศัพท์ดีขึ้นมาก หรือการแข่งขันทางโทรคมนาคมระยะไกล ซึ่งตอนนั้นมีบริษัท MCI และ Sprint ซึ่งทำเรื่องนี้อยู่แล้ว ทำให้ในสมัยนั้นค่าโทรศัพท์ระยะไกลลดลงมาก มีการสำรวจว่าในปี 2019 นั้น คนอเมริกาเกือบทั้งหมดไม่ต้องจ่ายค่าโทรศัพท์ต่อนาทีสำหรับการโทร.ในประเทศ

แต่แน่นอนว่าการแตกออกของบริษัทนั้นก็อาจจะมีข้อเสีย โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยี ในช่วง 1990s ที่ Bell Systems เริ่มมีการพัฒนาระบบส่งอินเทอร์เน็ตผ่านสายเคเบิลโทรศัพท์นั้น มีผู้วิเคราะห์ว่าถ้าในช่วงนั้น Bell Systems ยังคงกินรวบสายเคเบิลโทรศัพท์อยู่ อเมริกาอาจจะได้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลายก่อนช่วงปี 2000s ก็ได้

และอีกข้อวิจารณ์หนึ่งของการแตกออกของบริษัท Bell Systems คือสุดท้ายแล้วหลาย ๆ บริษัทของ Baby Bells ก็กลับมาควบรวมกิจการอีกรอบหนึ่ง แต่แน่นอนว่าปัจจุบันทายาทของ Bell Systems ก็มีเพียงสามบริษัท (ไม่ได้ควบเป็นหนึ่งบริษัทเหมือนก่อนช่วงปี 1980s) โดยมีบริษัทดังนี้คือ

  1. AT&T (มูลค่าสินทรัพย์รวม 521 พันล้านเหรียญฯ) รวมจาก BellSouth, Ameritech, Pacific, Telesis, SBC และยานแม่เดิม AT&T
  2. Verizon Communications (มูลค่าสินทรัพย์รวม 316 พันล้านเหรียญฯ) มาจาก Bell Atlantic และ NYNEX และควบอีกหนึ่งบริษัทที่ไม่ได้มาจาก Baby Bells
  3. Lumen Technologies (มูลค่าสินทรัพย์รวม 59 พันล้านเหรียญฯ) มาจาก US West และควบอีกสองบริษัทที่ไม่ได้มาจาก Baby Bells

โดยในปัจจุบัน บริษัท AT&T ก็กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ถ้าใครเคยได้ยินเกี่ยวกับบริษัท WarnerMedia เจ้าของ Entertainment Media รายใหญ่ของอเมริกา บริษัทนี้โดน AT&T ซื้อไปตอนปี 2016

ข้อสรุป (โดย กูเอง)

ถึงแม้ว่าจะการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงจะต้องอาศัยผู้เล่นรายใหญ่จะทำให้ง่ายลงและไวขึ้น แต่การแข่งขันทางการค้าก็มีความสำคัญ ผู้บริโภคอย่างเราควรจะตระหนักถึงสิทธิของสิ่งเหล่านี้ ซึ่งหากย้อนกลับไป ถ้าหากอเมริกาไม่กล้าเชือด AT&T แล้ว คนอเมริกาอาจจะยังต้องเช่าโทรศัพท์ใช้อยู่ก็เป็นได้

Nutchanon J's Stories

รวมบทความของนิสิตคณะวิศวะฯ คนหนึ่งในจุฬา ที่เรียนภาคไฟฟ้า

Powered by Bootstrap 4 Github Pages