Table of Content

เรื่องของหนี้ครัวเรือน - ไทยจะแซงประเทศอื่นเรื่องนี้จริงหรือ

Table of Content

...

ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา แต่หนี้ครัวเรือนก้าวกระโดดเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

ความน่าเป็นห่วงของเรื่องนี้ก็คือ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงถึงกว่าร้อยละ 90 ของ GDP (เมื่อสำรวจในไตรมาสแรกของปีนี้) ซึ่งประเทศต่าง ๆ ที่มีระดับหนี้ครัวเรือนสูงกว่าไทยนั้นมีแค่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย นอร์เวย์ แคนาดา เดนมาร์ก เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน และฮ่องกง

ความน่าเป็นห่วงนี้ไม่ได้มาจากเรื่องของปริมาณหนี้อย่างเดียว แต่มาจากที่มาแห่งหนี้ด้วย หนี้ครัวเรือนของไทยนั้นมีถึง 40% ที่มาจากการกู้ยืมและการใช้เครดิตการ์ด

นอกจากนั้น หนี้ดี (good debt) เช่นหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเพื่ออสังหาริมทรัพย์ (mortgage - สาเหตุที่เรียกหนี้กู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยว่าเป็นหนี้ที่ดีเนื่องจากเป็นหนี้ที่มีมูลค่าของบ้านเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน) ของไทยนั้นมีเพียง 34% ของปริมาณหนี้ครัวเรือนทั้งหมด เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์ (74%) และสหราชอาณาจักร (84%)

อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ ประเทศไทยมีหนี้ของภาคเอกชน (corporate debt) ต่ำกว่าของภาคครัวเรือนมานานหลายปีแล้ว ความไม่สมดุลนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนข้อบกพร่องของเศรษฐกิจไทยอย่างมาก

สาเหตุของหนี้ครัวเรือนที่สูงมากขนาดนี้ น่าจะมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องหนึ่งที่เป็นแพะรับบาปของวิกฤตการณ์หนี้ครัวเรือนนี้อาจอยู่ที่วิจารณญาณของประชาชนในการใช้เงิน (financial literacy) ที่น้อยเกินไป แต่นั่นก็ไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวอย่างแน่นอน ประเทศไทยมีนโยบายที่ค่อนข้างสนับสนุนให้ประชาชนก่อหนี้อยู่หลายครั้ง ทั้งช่วงที่มีนโยบายรถคันแรก รวมถึงการที่ประชากรไทยมีภาวะความยากจนที่ค่อนข้างสูง ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางด้านการเงินของสถาบันการเงิน ที่ประชากรและธุรกิจอีกหลายส่วนยังไม่สามารถเข้าถึงได้

เรื่องของหนี้นอกระบบนั้นก็ยังเป็นปัญหาของไทยอยู่ การที่ประชาชนบางส่วนไม่สามารถถึงการกู้ยืมจากสถาบันการเงินทำให้ต้องไปพึ่งพิงกับการกู้ยืมหนี้นอกระบบที่เก็บดอกเบี้ยที่แพงกว่ามาก แม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยจะมีสถาบันการเงินใหม่ ๆ ที่มีลักษณะให้กู้ยืมเงินโดยเฉพาะ แต่ผู้กู้ก็ต้องมีสินทรัพย์มูลค่าสูงที่สามารถนำมาค้ำประกันการกู้ยืมนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถบรรทุก หรือรถจักรยานยนต์

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีสถาบันการเงินที่สามารถให้กู้ยืมแบบ Peer-to-Peer ได้ (คือการที่มี platform ให้ผู้กู้ และผู้ให้กู้ สามารทำธสัญญากู้กันได้โดยมีการควบคุม ซึ่งช่วยในการลดปัญหาหนี้นอกระบบ) โดยในปีที่แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มให้สามบริษัท ดังนี้

รายชื่อผู้ให้บริการระบบ Peer-to-Peer Lending Platform ที่ทดสอบภายใต้ Regulatory Sandbox

ได้เริ่มเข้ามาทดสอบระบบในการทำธุรกิจกู้ยืมแบบ Peer-to-Peer ดังกล่าว โดยตอนนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบระบบ การมี platform ที่ได้รับการควบคุมอย่างเป็นทางการนี้ “อาจ” ช่วยให้ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบลดลงได้

เนื่องด้วยสถานการณ์โควิดในปีที่แล้ว ความพยายามในการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนทำให้มีมาตรการหลายอย่างจากสถาบันการเงิน รวมถึงจากรัฐบาลเองในการช่วยลูกหนี้ให้รอดจากวิกฤติครั้งนี้ แต่เมื่อโควิดใกล้กำลังจะจบลงในปีหน้า การแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนควรจะต้องมีความเข้มข้นมากกว่านี้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาในเชิงระยะยาว ทั้งในด้านของการให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องของการเก็บออมเงิน รวมถึงการแก้ไขปัญหาระยะยาวที่รุมเร้าประเทศไทยอย่างยาวนานมากแล้ว คือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

ที่มา:

กรุงเทพธุรกิจ

ธนาคารแห่งประเทศไทย

Nutchanon J's Stories

รวมบทความของนิสิตคณะวิศวะฯ คนหนึ่งในจุฬา ที่เรียนภาคไฟฟ้า

Powered by Bootstrap 4 Github Pages