Table of Content

ปัญหาในเรื่องของแรงจูงใจ: ความเข้าใจผิดในทางพุทธศาสนา

Table of Content

...

ในชีวิตของเรา อะไรคือแรงจูงใจในการมีชีวิตอยู่?

ถ้าเปรียบเสมือนชีวิตของเราเป็นเพียงแค่ลู่วิ่ง เราที่วิ่งอยู่บนลู่วิ่งนั้นคือชีวิตของเรา เวลาเดินไปข้างหน้าเสมอ แต่เราจะเลือกวิ่งย้อนกลับหรือไปข้างหน้า หรือไปซ้ายไปขวา จะไปทางไหนก็ได้

ในหนังสือพุทธธรรม ของท่าน ป. อ. ปยุตโต ได้เปรียบแรงจูงใจในการใช้ชีวิตของคนไว้สองแบบ

  1. แบบแรก คือความกลัว กลัวที่จะเป็นอะไรบางอย่าง หรือไม่เป็นอะไรบางอย่าง หรือความชอบ หรือความไม่ชอบ บางทีเราอาจจะเรียนอยู่เพียงเพราะหากไม่เรียนแล้วอนาคตข้างหน้าจะยากจน บางทีเรายังคงออกกำลังกาย หรือทานอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะไม่อยากเป็นโรคที่ทรมานในอนาคต หรือไม่อยากให้ร่างกายสูญไปตามกาลเวลา หรือเราอาจกำลังวิ่งหนีการสอบตก หรือวิ่งหนีการติดคุก หรือวิ่งหนีความตาย หรือวิ่งหนีความยากจน วิ่งหนีการตกงาน วิ่งหนีการไม่มียศและศักดิ์ศรี วิ่งหนีความยากลำบาก ฯลฯ ถ้าเปรียบกับสถานการณ์ในลู่วิ่ง ก็คงเหมือนกับสัตว์ประหลาดตัวหนึ่ง ที่กำลังไล่ตามชีวิตอยู่ตลอดเวลา รอวันที่จะเขมือบเรายามที่เราวิ่งช้าเกินไป

  2. แบบที่สอง คือความอยากที่จะสร้างสรรค์ความดีงาม ในชีวิตของเราอาจจะมีเป้าหมายอะไรบางอย่างในชีวิตอยู่ ที่ทำให้เรามีความหมายในการใช้ชีวิตในทุก ๆ วัน บางคนอาจมีเป้าหมายในการตั้งบริษัทเพื่อทำบางสิ่งที่โลกไม่เคยมี บางคนอาจมีเป้าหมายในการสร้างครอบครัว บางคนอาจมีเป้าหมายเพื่อเรียนต่อ บางคนมีชีวิตเพื่อแข่งขันให้ได้ชัยชนะในบางสิ่งบางอย่าง บางคนอยากได้ออกไปช่วยเหลือสังคม ฯลฯ อีกมาก

ถ้าเปรียบกับสถานการณ์ในลู่วิ่ง ก็คงเหมือนกับแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ รอวันที่เราจะไปถึงแสงสว่างตรงนั้น

ท่านได้เปรียบว่า ถ้าเราสามารถลดแรงจูงใจแบบแรกได้มากเท่าใด และเพิ่มแรงจูงใจแบบที่สองได้มากแค่ไหน ชีวิตเราก็จะมีความสุขได้มากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น

ประโยคคลาสสิคที่มักจะกล่าวว่า “ไม่คาดหวัง ไม่ผิดหวัง” นั้น ดูเหมือนว่าจะทำให้คนเข้าใจผิดว่า ในชีวิตของเราไม่ควรมีแรงจูงใจมากนัก เพราะถ้ามีแรงจูงใจในชีวิตมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะเกิดความทุกข์ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นความจริงแค่ส่วนเดียว เพราะเราไม่มีทางเลยที่จะไม่คาดหวังอะไรเลยในชีวิต

เราคาดหวังตลอด แม้ว่าจะรู้ตัว หรือไม่รู้ตัวก็ตาม ทุกครั้งที่ชีวิตบอกกับตัวเองว่า “ช่างแม่งเถอะ” แต่กลับมีหลาย ๆ อย่างที่เรายังคงยึดพิงอยู่ ภายในใจลึก ๆ ของชีวิตเราทุกคนต่างก็มีสิ่งที่เราคาดหวังในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจะไปบอกกับคนอื่น ๆ ว่าไม่ควรคาดหวังอะไรเลย ก็น่าจะผิดธรรมชาติมากเกินไป

มีหลายทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจในการใช้ชีวิต บางท่านบอกว่าชีวิตเรามีแรงจูงใจหลักคือเรื่องของชีววิทยา เราต่างก็พยายามที่จะทำให้ตัวเองมีความสามารถในการสืบพันธุ์มากขึ้นเท่านั้น แต่เมื่อสังคมมนุษย์เจริญมากขึ้น บริบทของ “ความสามารถในการสืบพันธุ์” ก็เปลี่ยนไป อาจกลายเป็นเรื่องของหน้าตา ความร่ำรวย อาชีพการงาน ฯลฯ

บางทฤษฎีบอกว่าเราอยู่ด้วยความเห็นแก่ตัวในใจด้วยกันทั้งนั้น ทุกครั้งที่เราช่วยเหลือผู้อื่น ในใจลึก ๆ เราอาจกำลังมีความเห็นแก่ตัวอยู่ ความจริงเราอาจอยากให้สังคมดีขึ้นเพียงเพราะว่าเราอยู่ในสังคมนั้นอยู่ก็ได้ ความจริงการที่เราช่วยเหลือผู้อื่นอาจเป็นเพราะเราต้องการที่จะสนองความใคร่ของตัวเองในเรื่องของจริยธรรมอยู่ก็เป็นได้ ความจริงแล้วเราช่วยผู้อื่นเพียงเพราะในใจลึก ๆ เราเองรู้ว่าจะเป็นคนที่ได้ผลประโยชน์นั้น

ถ้าพูดกันในแนวดังกล่าวก็อาจเข้าหลักที่ว่า เราควรมีค่าตอบแทนในการทำบางสิ่งบางอย่างทั้งหมด ตามหลักการของเศรษฐศาสตร์ที่ว่า “ไม่มีมื้อเทียงที่ฟรี” ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนสังคมมานานตามหลักของทุนนิยม

ต้องยอมรับว่า ความคาดหวังในชีวิตของเรานั้นถูกนิยามด้วยโลกของทุนนิยมมากเกินไป จนเราคิดไปเสียหมดว่าความคาดหวังนั้นกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราทุกข์ใจได้อย่างดี เพียงเพราะว่าในโลกปัจจุบันนั้นเราถูกครอบด้วยแรงจูงใจแบบแรกไปเป็นส่วนใหญ่

ในทางพระพุทธศาสนา มีเรื่องโต้เถียงกันว่า ถ้าพระอรหันต์ไม่มีกิเลสเหลืออยู่แล้ว แล้วพระท่านนั้นจะกลายเป็นคนที่ไม่มีความรู้สึกรู้สาเลยหรือไม่ หรือท่านจะหมดแรงจูงใจในการใช้ชีวิตทั้งหมด แล้วท่านจะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่ออะไร

แต่ถ้าเอาตามความในพระไตรปิฎกที่บันทึกมา พระอรหันต์นับว่าเป็นพระที่มีคุณูประการอย่างมากในพระรัตนตรัย การที่ท่านไม่มีกิเลสมาครอบงำให้เฉไฉอีกแล้ว ทำให้แรงจูงใจในการใช้ชีวิตเหลือเพียงอย่างเดียว คือการเผยแพร่ศาสนา และที่สำคัญ พระอรหันต์เป็นท่านที่มีความผุดผ่องและมีความสุขที่สุดในบรรดาพระผู้สำเร็จทางธรรมด้วยกัน ด้วยความว่าไม่มีกิเลสแล้ว ไม่ได้มีความเศร้าหมองที่เกิดจากการหมดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต

แสดงว่า “กิเลส” เป็นคนละอย่างกับ “แรงจูงใจในการใช้ชีวิต” เพราะแรงจูงใจในการใช้ชีวิตไม่จำเป็นต้องมีกิเลสมาครอบงำเสมอไป และกิเลสนี่เองที่ทำให้เกิดความทุกข์

ถ้าในชีวิตเราสามารถสร้างแรงจูงใจแบบที่สองได้มากกว่าแบบที่หนึ่ง ชีวิตของเราก็คงจะเหมือนลู่วิ่ง ที่เราไม่ต้องกังวลกับสัตว์ประหลาดที่กำลังคอยกัดกินเราอยู่ แต่มีเพียงแสงสว่างที่ปลายทางเท่านั้นที่เป็นความหวังในการใช้ชีวิต

แต่ในความจริง เราคงตัดแรงจูงใจแบบแรกออกไม่ได้เสียทั้งหมด เพราะเราก็คงมีความกลัวอะไรบางอย่างอยู่เสมอไป เพียงแค่ว่า ถ้าแบบที่สองมากกว่าแบบแรก ชีวิตเราก็คงมีความสุขมากกว่านี้

อาจมีผู้ที่โต้แย้งว่า แรงจูงใจในแบบที่สองนั้น อาจที่จะยังมีความเห็นแก่ตัวภายในใจซ่อนอยู่ก็เป็นได้ นั่นก็เป็นสิ่งที่จะต้องโต้เถียงกันต่อไปในทางปรัชญา

เพียงแค่ว่า หากใครมาบอกว่า “ไม่คาดหวัง ไม่ผิดหวัง” เราไม่ควรมีแรงจูงใจในการใช้ชีวิต เพราะแรงจูงใจนั้นจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเป็นทุกข์

ผู้เขียนก็จะตอบกลับไปทันทีว่า ในชีวิตของคุณคนนั้น คุณหาแรงจูงใจในชีวิตที่ถูกต้องเจอแล้วหรือยัง

Nutchanon J's Stories

รวมบทความของนิสิตคณะวิศวะฯ คนหนึ่งในจุฬา ที่เรียนภาคไฟฟ้า

Powered by Bootstrap 4 Github Pages