Table of Content

ตุรกี : ประเทศอิสลามที่แบนฮิญาบ

Table of Content

...

ฮิญาบในศาสนาอิสลามนอกจากจะหมายถึงเครื่องแต่งกายแบบคลุมผมของชาวมุสลิมแล้ว ยังหมายถึงหลักปฏิบัติในเรื่องความพอประมาณ

ในปัจจุบันมีเพียงสามประเทศเท่านั้นที่การสวมใส่ฮิญาบเป็นสิ่งที่จำเป็นเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ คือ อิหร่าน ซาอุดิอาราเบีย และอัฟกานิสถาน (ที่ผู้ก่อการร้ายกลุ่มตาลีบันเพิ่งยึดประเทศกลับมาได้)

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม มีประเทศอิสลามอีกหลายประเทศที่การสวมใส่ฮิญาบนั้นเป็นเรื่องที่เขียนไว้อย่างชัดเจนในกฎหมายว่าไม่ควรทำ หรืออาจเป็นความผิดทางกฎหมายได้เลย

โคโซโว ตูนีเซีย อาเซอร์ไบจาน และตุรกี เป็นสี่ประเทศมุสลิมที่ห้ามใส่ฮิญาบในสถานที่ราชการและสถานศึกษา นอกจากนั้นยังมีซีเรีย และอียิปต์ ที่เป็นประเทศมุสลิมและห้ามใส่ฮิญาบแบบปิดบังใบหน้าเข้าสถานศึกษา

การห้ามสวมฮิญาบกลายเป็นเรื่องของความหวาดกลัวของรัฐบาลในหลายประเทศเหล่านั้น ความกลัวของรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ ว่าฮิญาบอาจจะนำกลับมาซึ่งขบวนการอิสลาม ที่ต้องการจะรื้อฟื้นการเป็นอยู่ของมุสลิมแบบดังเดิม (fundamentalism) ซึ่งเป็นการอยู่ในสังคมที่นำศาสนาอิสลามเป็นทั้งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นทั้งนโยบายเชิงเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นทั้งนโยบายเชิงสังคมและการปกครองประเทศ (socio-politico-economic system)

ตุรกีนับว่าเป็นประเทศแรก ๆ ที่เริ่มแบนฮิญาบอย่างจริงจัง ด้วยการมองว่าฮิญาบถึงเป็นศัตรูของความเป็นรัฐโลกวิสัย (secular state - รัฐที่แยกเรื่องของระบบการปกครองและเศรษฐกิจออกขาดจากเรื่องทางศาสนา) นับตั้งแต่ปี 1937 ที่ Mustafa Kemal Atatürk เริ่มก่อตั้งประเทศตุรกีขึ้นหลังจากการล่มสลายของอาณาจักรออตโตมัน เขาได้พยายามที่จะทำให้ตุรกีนั้นมีความเป็นตะวันตกมากขึ้น (เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย เช่น ไทย ญี่ปุ่น) แต่ความพยายามของเขายังไม่ถึงขั้นที่ว่าจะแบนฮิญาบในตอนนั้น เนื่องจากประชาชนว่า 90% ของประเทศเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ไม่ว่าอย่างไรก็ตามตัวเขาเองก็ออกนโยบายเชิงกีดกันในการสวมใส่ฮิญาบ

ความรุนแรงของการแบนฮิญาบในตุรกีเพิ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 1980 เมื่อมีการปฏิวัติทหารเกิดขึ้นในตุรกี และได้ประกาศเป็นความผิดอย่างทางการในรัฐธรรมนูญของตุรกีเมื่อปี 1997 ทำให้การสวมใส่ฮิญาบกลายเป็นเรื่องต้องห้ามในตุรกีไป

การบังคับใช้กฎหมายก็ไม่ได้ทำกันเล่น ๆ ในปี 1999 สมาชิกสภาหญิงท่านหนึ่งได้ถูกไล่ออกจากสภาเพราะใส่ฮิญาบ ในปี 2000 มีนักศึกษาถูกตำรวจจับเพราะใส่ฮิญาบระหว่างทำข้อสอบ การใส่ฮิญาบกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านความเป็นรัฐที่แยกศาสนาและการปกครองออกจากกัน

แม้ว่าความพยายามของรัฐบาลตุรกีนั้นจะแรงมากแค่ไหน แต่ศรัทธาของชาวมุสลิมก็ไม่ได้ถอยลงไปเลย มีผู้หญิงหลายคนที่ตัดสินใจสวมวิกแทนฮิญาบเพื่อให้ดูไม่ออก บางคนยอมที่จะไม่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาเพราะไม่ต้องการที่จะถอดฮิญาบระหว่างเรียน

(ความจริงจังของตุรกีในความเป็นรัฐโลกวิสัยอบ่างถ่องแท้นั้นเป็นสิ่งที่คนไทยอาจจะไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่นัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าเรามีศาสนาพุทธและอิสลามที่ไม่ได้มีเป้าหมายในการใช้เชิงปกครองอยู่แล้ว อีกทั้งเราอาจจะยังไม่เคยอยู่ในประเทศที่เคร่งศาสนาจริง ๆ ความพยายามในการแยกศาสนาของจากรัฐจึงถือเป็นลักษณะเฉพาะที่มีในหลายประเทศแถบตะวันออกกลางที่พยายามทำตัวเองเป็นรัฐโลกวิสัย ซึ่งบางประเทศเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนเลยว่าจะตั้งตนเป็นรัฐโลกวิสัยเท่านั้น)

เมื่อเวลาผ่านไป สังคมของตุรกีเริ่มมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น การแบนฮิญาบก็ค่อย ๆ เริ่มผ่อนคลายลง ในปี 2010 พรรคร่วมรัฐบาลของตุรกียื่นเสนอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ต่อมาในปี 2013 ก็เริ่มอนุญาตให้สวมฮิญาบได้ในสถานศึกษาและสถานที่ราชการ ต่อมาไม่นานในปี 2016 ก็อนุญาตให้มีการสวมฮิญาบสำหรับตำรวจและเจ้าหน้าที่ศาลได้

ความพยายามในการแบนเครื่องแต่งกายเพื่อคงความเป็นรัฐโลกวิสัยไม่ได้มีเฉพาะในตุรกี แต่ประเด็นของเรื่อง คือประเทศเหล่านี้ที่เป็นรัฐโลกวิสัย และทั้งหมดก็เป็นประเทศประชาธิปไตยด้วยนั้น ควรที่จะยึดหลักของเสรีภาพของประชาชน มากกว่าความพยายามที่จะเป็นรัฐโลกวิสัยด้วยระเบียบเครื่องแต่งกาย

— มองประเทศเขา แล้วกลับมามองที่ประเทศเรา —

หากเราเองนั้นเมื่อมองประเทศตุรกีก็อาจคิดว่าเรื่องบังคับเครื่องแต่งกายแบบนี้ไร้สาระอย่างมาก แต่ถ้าคนประเทศตุรกีมองมาหาเราว่า “บังคับนักเรียนใส่ชุดนักเรียนทำไม” หรือ “บังคับให้นักเรียนชายต้องเกรียนสามด้าน นักเรียนหญิงผมสั้นติ่งหู” แล้ว เขาก็คงคิดว่ากฎเหล่านี้ไร้สาระเช่นกัน

เราต่างก็มีความยึดมั่นถือมั่นในใจของแต่ละคน ถึงจะเขียนเป็นบทความยาวขนาดนี้ ผมอาจจะยังโน้มน้าวใจผู้อ่านบางคนยังไม่สำเร็จก็ได้ว่าสิ่งที่ตุรกีทำลงไปนั้นเป็นบริบทของประเทศเขา ในสภาพแวดล้อมที่ห้อมล้อมด้วยรัฐศาสนา

แต่เขาก็คงไม่เข้าใจเหมือนกันว่าประเทศไทยจะบังคับทรงผมของนักเรียนทำไม

บางคนที่สนับสนุนการยกเลิกการแบนฮิญาบในประเทศตะวันตก อาจจะกำลังสนับสนุนการบังคับทรงผมของนักเรียนไทยอยู่ก็ได้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องบังคับเครื่องแต่งกายเหมือนกัน แต่เดี๋ยวเขาก็จะหาข้ออ้างเชิงบริบทของสังคมเป็นล้านแปดแสนอย่างจนสรุปได้ว่า ความคิดของตนเองนั้นไม่ได้ขัดแย้งกันเลย (not a hypocrite)

หรือหากพูดให้เข้าถึงสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันก็คือ ยอมไปวิ่งเพื่อช่วยเหลือเด็กอยากไร้ แต่ไม่ยอมเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกียวข้องเป็นผู้จัดการ แล้วเขาก็จะหาข้ออ้างเชิงบริบทของสังคมเป็นล้านแปดแสนอย่างจนสรุปได้ว่า ความคิดของตนเองนั้นไม่ได้ขัดแย้งกันเลย (not a hypocrite, too.)

แม้แต่ประเทศมุสลิมด้วยกันเองนั้น บางประเทศสุดโต่งไปทางหนึ่ง (แบนฮิญาบ) อีกประเทศก็สุดโต่งไปอีกทาง (บังคับใส่ฮิญาบ) ความคิดของคนที่มีความเชื่อเหมือนกัน ก็ยังไม่เข้าใจกันเลย

ผมว่าสุดท้ายแล้ว สังคมเราก็ขับเคลื่อนด้วยความเชื่อของคนทั้งนั้น เราไม่ได้ใช้เหตุผลในการดำเนินชีวิตมากนักหรอก

Nutchanon J's Stories

รวมบทความของนิสิตคณะวิศวะฯ คนหนึ่งในจุฬา ที่เรียนภาคไฟฟ้า

Powered by Bootstrap 4 Github Pages