Table of Content

เมื่อปีใหม่ เราก็อยากจะเป็นคนใหม่

Table of Content

...

เมื่อเริ่มต้นสัปดาห์ใหม่ เราก็อยากจะเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ

แม้แต่อดีตประธานบริษัทซัมซุงผู้ยิ่งใหญ่ ลีกอนฮี ก็ยังเคยพูดกับเจ้าหน้าที่ปริหารในบริษัท ว่า “ให้เปลี่ยนทุกอย่าง ยกเว้นภรรยากับบุตร” แสดงว่าการเปลี่ยนตัวเองนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา

ทุกคนต่างก็มีความไม่พอใจในความเป็นตัวเอง ส่วนลึกภายใน เราต่างมีปมด้อยของตัวเองที่สลัดออกจากชีวิตไม่ได้

แต่อะไรกันนะที่เรียกว่า “ตัวเรา”

ในหลาย ๆ ครั้ง เราเลือกที่จะไม่ทำบางสิ่งบางอย่าง เพราะรู้ว่ามันไม่ใช่ “ตัวเรา”

เราอาจจะอ้างว่าเราไม่ยอมเรียนสายวิทย์คณิต เพราะมันไม่ใช่ตัวเรา

เราอาจจะอ้างว่าเราไม่ยอมซื้อเสื้อแพง ๆ เพราะมันไม่ใช่ตัวเรา

เราอาจจะอ้างว่าเราไม่ยอมทำงานที่เกี่ยวกับงานประสานงาน เพราะมันไม่ใช่ตัวเรา

อาจจะพูดถึงความถนัด อาจจะพูดถึงความชอบ นั่นคงเป็นสิ่งที่อธิบายเกี่ยวกับตัวเราได้ดีที่สุด

เมื่อคำว่า “ตัวเรา” นั้นถูกสะสมมาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ ด้วยความไม่สมมาตรบางอย่างที่เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ไม่ว่าจะตั้งแต่เรื่องภายในสุดอย่างพันธุกรรม จนถึงเรื่องภายนอกสุดอย่างสังคมที่อยู่ ทำให้มนุษย์มีความเป็น “ตัวเอง” ที่แตกต่างกัน

เราแตกต่างกัน จนกระทั่งเรามีความสามารถที่โดดเด่นในเรื่องที่แตกต่างกัน

ความสามารถที่โดดเด่นเป็นเรื่องที่เราเริ่มค่อย ๆ คัดกัน เป็นกระบวนการแบบคัดออกและพัฒนาเพิ่มในเวลาเดียวกัน พอเวลาผ่านไป ก็เริ่มมีกิจกรรมเพียงไม่กี่อย่างที่เราสามารถทำได้ จนเป็นกิจจาลักษณะที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้

จนในบางครั้ง เมื่อเราโตขึ้น งานก็มากขึ้น จนงานทุกอย่างที่เราเคยคิดว่าชอบ หรืองานที่เราเคยคิดว่าเป็น “ตัวเอง” ก็เริ่มดูน่าเบื่อไป

มันอาจจะเป็นเรื่องของการ burn out หรือเป็นเรื่องที่เราไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย ตอนแรกก็สนุก ตอนหลังเริ่มน่าเบื่อ อาจจะแทบอ้วกออกมา แม้แต่เราเองก็ไม่เคยรู้ว่าสิ่งที่ชอบจะกลายเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ

ทุกวันนี้เราพูดถึงคำว่า “focus” กันอย่างหนัก เขาบอกว่าเราควรจะมีเรื่องที่เราเชี่ยวชาญ แล้วเราก็ควรที่จะพัฒนาความเชี่ยวชาญนั้นจนเป็นความโคตรเชี่ยวชาญ เพราะการพัฒนาสิ่งที่เราถนัดอยู่แล้ว จะทำได้เร็วกว่าสิ่งที่เราทำแล้วไม่ถนัด

แต่ชีวิตเราคงจะน่าเบื่อมาก ถ้าเรามัวแต่ทำแต่เรื่องที่เราถนัด

มีช่วงตอน ม.๕ ที่นิ้วกลมมาพูดบรรยายที่โรงเรียน เราจำประเด็นหลักได้อย่างหนึ่งคือ การที่ต้องพยายามที่จะรักษา “ตัวเอง” เอาไว้เมื่อเราโตขึ้น … เราเพิ่งจะเริ่มเข้าใจในช่วงนี้นี่เอง

บางที เราอาจจะต้องรักษาความเป็นตัวเองให้ดีกว่านี้ ในยุคที่ productivity เริ่มเข้าครอบครองชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อย ๆ

มันก็คงเหมือนต้นไม้ที่ต้องรดน้ำตลอดเวลา เหมือนป่าที่ต้องมีฝนให้ทั่วทุกที่ ชีวิตเราก็คงเหมือนกับไพรที่มีพืชพรรณนับร้อยสาย ที่เรารังสรรค์ปลูกมันขึ้นมานับตั้งแต่เกิด

ถ้าเรามัวแต่ไปบำรุงเพียงต้นสองต้น ป่านั้นก็จะกลายเป็นทะเลทราย เหือดแห้งหายไป

ถ้าเราบำรุงป่าทั้งผืน แต่น้ำไม่พอของแต่ละต้น ก็คงไม่มีต้นไหนที่ให้ร่มเงาพอให้เราพักพิงได้

ถ้าเราปลูกต้นพันธุ์ใหม่ ๆ ป่าเราก็จะเปลี่ยนแปลงไป เป็นความแปลกใหม่ที่เราไม่เคยเจอ

แต่ถ้าเราไม่ยอมรดน้ำต้นที่เราเห็นว่ามันสำคัญ บางทีสิ่งนั้นเอง ที่อาจทำให้ตัวเรานั้นหายไป

เราอาจจะปลูกต้นไม้ใหม่ก็ได้ หรือเราอาจจะกลับไปเลี้ยงดูต้นที่เราทอดทิ้งมานาน

ขอให้ปีใหม่นี้ เป็นปีที่ทั้งได้ทำอะไรใหม่ ๆ และได้กลับไปดูแลสิ่งที่สำคัญในชีวิตครับ

Nutchanon J's Stories

รวมบทความของนิสิตคณะวิศวะฯ คนหนึ่งในจุฬา ที่เรียนภาคไฟฟ้า

Powered by Bootstrap 4 Github Pages