Table of Content

My 2021 Life.

Table of Content

...

ในช่วงปีนี้ที่ผ่านมา เหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายทำให้ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ชีวิตแทบจะกลายเป็นแบบ routine อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความพยายามในการหาทำสิ่งใหม่ ๆ เป็นไปได้ยากกว่าที่คิด ชีวิตจืดจาง กว่าจะได้กลับมาเจอเพื่อนแบบตัวเป็น ๆ อีกครั้งก็เดือนตุลาคมเข้าไปแล้ว

ผู้เขียนเองยอมรับว่าเป็นคนที่ไม่ได้เล่น Instagram เลย วัน ๆ นั่งดูแต่เฟซบุ๊กกับ Reddit เท่านั้น แต่พอเข้า Instagram ทุกครั้งก็อิจฉาเพื่อนคนอื่นทุกครั้ง ที่ได้ทำสิ่งต่าง ๆ ต่างจากผู้เขียนที่ยังอยู่ที่บ้าน หรือว่ากำลังยุ่งกับการเรียนอยู่

เมื่อเวลาผ่านไปถึงช่วงที่กลับมาที่มหาวิทยาลัย ก็ยังยอมรับว่าทุกอย่างยังไม่ได้กลับมาเป็นปกติมากนัก แต่ก็เริ่มมีเพื่อนของผู้เขียนหลายคนชวนให้ผู้เขียนทำหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งเรื่องการเตรียมค่ายถึงสองค่าย การกลับเข้ามาทำงานใน กวศ. อีกปี ในฝ่ายที่ตอนแรกก็คิดว่าน่าจะเป็นฝ่ายที่คนน่าจะสมัครเข้ามาเยอะ แต่ปรากฏว่าคนขาด และก็ได้ไปเที่ยว ไปสำรวจในที่ที่ไม่เคยไป และไม่คิดว่าจะได้เคยไป ได้เข้าโครงการ ChAMP และเจอแนวคิดใหม่ ๆ จำนวนมาก ได้ไปช่วยทำงานหุ่นยนต์ ได้เข้าค่ายฝึกงาน ได้เรียนวิชากฎหมายที่เพื่อนได้แนะนำมา และเป็นการตัดสินใจเลือกวิชาที่ดีที่สุดวิชาหนึ่ง

ผู้เขียนเริ่มค้นพบอย่างหนึ่งว่า ชีวิตของผู้เขียนนั้นเพิ่งมาเริ่มมีสีสันอะไรบางอย่าง ก็เพราะเพื่อนของผู้เขียนนี้เอง

กิจกรรมเกือบ 90% ที่ตอนนี้ผู้เขียนทำอยู่นั้น เป็นสิ่งที่เพื่อนชวนมาทำ หากเป็นช่วงปีหนึ่งหรือปีสองก็อาจมีบ้างที่ผู้เขียนจะปฏิเสธว่าไม่ไป มีครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนยังพิมพ์งานที่เป็นหนังสือสรุป สอวน. ไม่เสร็จ (ตอนนั้นกะว่าจะเขียนให้เสร็จก่อนอายุ 20 ของตัวเอง) เพื่อนชวนให้ไปก็ไม่ไป ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมตอนนั้นถึงปิดกั้นตัวเองมากเหลือเกิน

ผู้เขียนยอมรับว่า โลกใบนี้จะสามารถถูกค้นพบได้ในสองทาง ทางแรกคือการอ่านที่มาก ทางที่สองคือการได้เจอเพื่อนที่หลากหลาย ผู้เขียนยอมรับว่าตอนที่เลือกเข้ามาที่วิศวฯ จุฬาฯ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าอยากที่จะเจอสังคมใหม่ สังคมที่ผู้เขียนอาจไม่ได้เจอมาก่อน สังคมที่ทำให้ได้ “รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ว่าไม่รู้” ซึ่งมันก็เป็นอย่างที่คิดไว้ทุกอย่าง มันเป็นสังคมที่มีความหลากหลายมากจริง ๆ

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคงต้องลองกลับไปเล่น Instagram อีกครั้งแล้ว ไม่อย่างนั้นคงไม่รู้เรื่องชีวิตของคนอื่นบ้างเลย …


เอาจริง ๆ แล้ว หากใครได้อ่านของ Day 29 นั้น ผู้เขียนยอมรับเลยว่าเป็นคนที่เริ่มเบื่อชีวิตของตัวเองอย่างหนัก อาจเป็นเพราะงานที่โถมกระหน่ำเข้ามา ทำให้ผู้เขียนไม่อยากทำอย่างอื่นเลย เมื่อถึงเวลาพักก็อยากที่จะทำอะไรเล่น ๆ เพื่อพักผ่อนจากงานทุกอย่าง ชีวิตเริ่มมีแต่คำว่า เรียน - ทำตัวไร้สาระ - นอน กลายเป็นว่าเรากลายเป็นเวอร์ชันที่เราในตอนเมื่อก่อนน่าจะผิดหวังพอสมควร

ผู้เขียนละทิ้งการเขียนมานานมาก ช่วงที่อยู่ ม.ปลาย ผู้เขียนเป็นคนที่เขียนพวกนิยายหรือเรื่องสั้นแบบแต่งใหม่ แต่ก็ไม่ได้โดดเด่นโด่งดังมากนัก และก็เขียนพวกบทความต่าง ๆ ซึ่งถ้าใครยังจำช่วง ม.6 ได้ นั่นเป็นช่วงแรกที่ผู้เขียนเริ่มเปลี่ยนแนวมาเป็นการเขียนบทความแบบอ่านแล้วจบแทน

มีบทความหนึ่งที่ผู้เขียนยอมรับว่าทำให้ผู้เขียนเกลียดกลัวการเขียนบทความไป คือเรื่องตอนที่ผู้เขียนเขียนเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง “รักชาติ-ชังชาติ” ซึ่งตอนนั้นยังเป็นช่วงที่ผู้เขียนยังสับสนและรู้สึกขัดแย้งในเรื่องต่าง ๆ พี่สาวของผู้เขียนทักมาเตือนเลยว่าผู้เขียนจะทำให้เพื่อนคิดว่าตนเองเป็น “สลิ่ม” หรือเปล่า ผู้เขียนก็เลยไม่กล้าที่จะเขียนบทความลง Facebook อีกนับจากนั้น เพราะคิดว่าแนวคิดของตัวเองนั้นน่าจะไม่มีใครชอบมากนัก

ที่โรงเรียนเก่าตอน ม.ปลาย เคยมีนักเขียนชื่อดังคนหนึ่งที่ทุกคนน่าจะรู้จัก ผมเคยถาม “นิ้วกลม” ไปครั้งหนึ่งว่าจะทำอย่างไรให้สามารถเขียนอะไรบางอย่างได้ในทุก ๆ วัน เขาบอกว่าก็ให้เขียนทุกวันสิ ไม่ว่าวันนั้นจะมีอารมณ์เขียน หรือไม่มีอารมณ์เขียน ก็ขอให้เปิดคอมมาเขียนไว้ก่อน สักย่อหน้าก็ยังดี

ในกระดาษที่เป็นลายเซ็นของเขาที่ขอมา เขียนไว้ให้ผู้เขียนว่า “เติบโตและสวยงาม”

ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงเพิ่งมานึกได้อีกครั้งตอนสี่ปีให้หลัง แต่พอคิดอย่างนั้นแล้วก็เลิกกลัวแล้วตัดสินใจเริ่มทำใหม่ในช่วงธันวาปีนี้พอดี แต่คราวนี้จะทำแบบ “ทุกวัน” จะต้องไม่มีข้ออ้างใด ๆ ทั้งหมดทั้งสิ้นที่จะทำให้การเขียนทุกวันนั้นหยุดชะงักไป

ในช่วงแรก ๆ ที่มีไฟอย่างหนักก็พิมพ์บทความไปล่วงหน้าประมาณหนึ่งถึงสองวัน ในช่วงสอบปลายภาคที่เพื่อนอ่านหนังสืออย่างหนัก แทนที่จะอ่านหนังสือกับเพื่อน กลับมานั่งพิมพ์บทความอะไรแบบนี้แทน

แต่พอหลังจากวันที่สิบเป็นต้นมา ก็เริ่มต้องเขียนแบบรายวันจริง ๆ เพราะไม่มีเวลาที่จะเขียนแบบล่วงหน้าเหมือนตอนช่วงแรก ๆ

การพิมพ์บทความในแต่ละวันทุกวันก็ยากแล้ว แต่การหาหัวข้อมาเขียนกลับยากกว่าหลายเท่า ในช่วงแรก ๆ ผู้เขียนพยายามเอาไอเดียมาจากข่าวสารเทคโนโลยีต่าง ๆ บางอย่างที่ดูน่าสนใจจริง ๆ มันก็ดูน่าเอามาเขียน แต่สุดท้ายก็เริ่มรู้สึกว่าข่าวพวกนั้นมีความน่าสนใจไม่มากพอ กลัวว่าหากเขียนแบบนั้นไปทุกวันก็คงกลายเป็นสำนักข่าวอีกแห่ง ไม่ใช่การเขียนแบบที่ผู้เขียนต้องการ

หลังจากนั้นผู้เขียนก็เริ่มหาไอเดียมาจาก textbook เล่มเก่า ๆ ที่ผู้เขียนเคยเอามาอ่านแล้วเห็นว่าหัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่น่าสนใจมากพอที่คนทั่วไปสามารถสนใจได้ แต่ยากพอที่จะมีค่าในเชิงของบทความ มีหลายหัวข้อมากที่ควักออกมาจากการอ่านที่ผ่านมาแล้วหลายปี บางเรื่องต้องย้อนกลับไปทวน บางเรื่องเป็นเรื่องที่เพิ่งอ่านเจอใน textbook ที่อ่านในช่วงนี้พอดี

แต่แล้วมันก็ยังไม่พอที่จะทำให้เขียนได้ครบทั้ง 31 วัน ในช่วงท้าย ๆ ผู้เขียนตัดสินใจเขียนเรื่องที่เป็นทัศนะของผู้เขียนเอง ส่วนหนึ่งที่ไม่กล้าเขียนทัศนะของตัวเองน่าจะเป็นเพราะว่ากลัวที่มันจะกลายเป็นบทความเชิง life coach ไป ซึ่งผู้เขียนยอมรับว่าไม่ชอบอะไรแบบนั้นเลย แต่สุดท้ายก็ยอมเขียนบทความในเชิงทัศนะตอนช่วงหลัง ๆ

อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่น่าจะไม่มีคนสนใจ แต่กลับมาคนสนใจอย่างมาก คือเรื่องของศาสนาพุทธ วันที่ผู้เขียนเขียนเกี่ยวกับเรื่องของความไม่ประมาทนั้น จำได้ว่าเป็นวันที่ผู้เขียนนึกไม่ออกเลยว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี บทความนั้นน่าจะเป็นบทความที่สั้นที่สุด และเขียนอย่างรวดเร็ว และก็เป็นการเขียนที่อ้างอิงจากหนังสือพุทธธรรมของท่าน ป อ ปยุตโต ซึ่งเป็นหนังสือที่ดีมาก ๆ ในวงการการศึกษาศาสนาพุทธ (แต่อาจจะน่าเบื่อมากสำหรับคนทั่วไป) อันนั้นเป็นบทความที่ผู้เขียนเองไม่นึกที่สุดว่าจะมีคนสนใจมากขนาดนี้

สุดท้าย ผู้เขียนก็ยอมรับว่า การที่เขียนบทความมาทั้งหมด 30 บทความที่ผ่านมา ก็แค่อยากแชร์เรื่องที่ดูน่าสนใจ ที่น่าจะแหวกออกจากเนื้อหาเชิง mainstream เพียงแค่นั้น

มันอาจจะเป็นเหมือนการที่ชวนเพื่อนไปดูหนังแนวแหวก ๆ ชวนไปเล่นกีฬา หรือชวนไปเที่ยวที่ไหนสักแห่งที่เป็นที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน สำหรับตัวผู้เขียนเองนั้น ทางเดียวที่จะทำได้แบบนี้ในทุก ๆ วัน คือการเขียนเรื่องที่ดูน่าสนใจ แล้วแปะใน Facebook ที่สิงสถิตของตัวเอง

การเขียนติดกันเป็นเวลาเดือนหนึ่งก็มีผลมากกับผู้เขียนเช่นกัน จากเดิมที่เวลาพวกนั้นอาจจะเอาไปทำอย่างอื่นที่ไม่ได้มีประโยชน์มากนัก แต่ก็กลายเป็นเวลาที่จะต้องมานั่งเขียนบางสิ่งบางอย่าง แม้แต่วันที่ไม่มีอารมณ์จะเขียนอะไรเลย ก็เขียนสักหนึ่งย่อหน้า แต่พอเริ่มเขียนแล้ว มันก็ติดลมบนเขียนต่อไปเรื่อย ๆ จนจบ


สุดท้าย ผู้เขียนค้นพบอีกอย่างหนึ่งว่า มันไม่ใช่เรื่องที่งานยุ่งหรือเรียนหนัก หรืออะไรอย่างอื่นเลยที่ทำให้เราไม่ได้ทำบางสิ่งบางอย่างใหม่ ๆ มันอาจจะเป็นเรื่องที่ว่า เราก็แค่ยังไม่ยอมทำมัน ก็แค่นั้น

มันอาจจะมีข้ออ้างประมาณล้านแปดแสน มีหลายเรื่องที่ยังค้างคาใจ แต่มันก็คงเหมือนกับการที่ไปเล่นเครื่องเล่นสวนสนุกใหม่ ที่ตอนแรกเราก็ยังกล้า ๆ กลัว ๆ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจทำมันลงไป แล้วมันก็ไม่ได้น่ากลัวกว่าที่คิดไว้

ผู้เขียนมีข้ออ้างล้านแปดที่อยู่ในใจของผู้เขียนตลอด มันคงเป็นเรื่องที่เรายังค้างคาใจอย่างมาก แต่สุดท้ายเรื่องของเรื่องคือการที่เราควรจะนึกไว้เสมอว่าเวลาผ่านไปในทุก ๆ วัน หากไม่รีบทำตอนนี้แล้วจะทำตอนไหน

แต่สิ่งที่ยากไปกว่านั้น คือการที่จะต้องทำทุกวัน มีข้อความหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมาจนถึงทุกวันนี้ คือเรื่องที่ว่า “ทุกอย่างมันทำง่ายไปหมดแหละ แต่สิ่งที่ยากคือการทำสิ่งนั้นในทุก ๆ วัน”


มันคงจะมีความเจ็บปวดระหว่างทาง ที่ต้องรับมันไว้บ้าง ใครกันที่ไม่ต้องแบกรับความเจ็บปวดเมื่ออะไรบางอย่างไม่สำเร็จ แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือเราจะหาทางฟื้นคืนจากอาการของความเจ็บปวดนั้นได้อย่างไร

บางเรื่องมันคงไม่ได้ตามที่เราคิดไว้ทุกอย่าง ผู้เขียนเองก็เป็นคนที่ไม่ชอบความไม่แน่นอนเช่นกัน ถ้าไม่ได้ในสิ่งที่วางแผนไว้อย่างดีแล้ว ก็ทำให้เกิดความไขว้เขวขึ้นในใจมาอย่างทันที

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีหลายอย่างที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกท้อแท้ใจอย่างมาก ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงต้องเจออะไรหลาย ๆ อย่างในช่วงส่งท้ายปีของทุก ๆ ปี เหมือนว่าจะเป็นช่วงเวลาต้องคำสาปของผู้เขียน ที่ทำให้ผู้เขียนต้องเจออะไรเยอะ ๆ มากมายในช่วงส่งท้ายปีเก่า

เราอยากที่จะพยายามมองไปข้างหน้า โดยไม่ยอมหวนกลับ แต่ใจเราก็ทำอย่างนั้นไม่ได้ อารมณ์เหมือนอยากลืม แต่กลับจำ

มันคงอาจจะเป็นเหตุผลอย่างหนึ่ง ที่ผู้เขียนอยากจะเปลี่ยนตัวเองจากหน้ามือเป็นหลังมือในทุก ๆ วัน ในเวลาที่คนอื่นมาเราว่าเป็นคนที่สุดยอดมากแค่ไหน แต่ในเวลาเดียวกันเราก็มักจะมองไปไกลถึงคนที่สุดยอดคนอื่น ๆ แล้วมาเปรียบเทียบกับตัวเองว่าเป็นคนอ่อนด้อยเช่นกัน มันคงเป็นเรื่องที่กลับไปกลับมาเรื่อย ๆ ไม่มีวันที่จะสิ้นสุดเสียที


มีเพลงหนึ่งที่ผู้เขียนอยากจะเอามาแปลส่งท้ายปี เป็นเพลงที่ชื่อว่า Love Like You ของซีรีย์แอนิเมชันค่ายอเมริกันเรื่องหนึ่งชื่อว่า Steven Universe เป็นเพลงที่มีเนื้อหาประมาณว่า

ฉันรู้ว่าฉันเป็นคนที่แย่ และตอนนี้ฉันก็รู้แล้วว่าเป็นความจริง

เพราะฉันคิดว่าเธอเป็นคนที่ดีมาก และฉันแทบจะไม่มีอะไรที่เหมือนเธอเลย

นั่งมองเธอจากไป ฉันยังรักเธออยู่

อะไรกันนะที่ทำให้เธอมองเห็นว่าฉันพิเศษได้มากขนาดนั้น


ข้อเสียของการเขียนทุกวันมีอยู่เรื่องหนึ่ง คือเรื่องที่ว่า บทความแต่ละบทจะยาวไปมากไม่ได้ เพราะไม่อย่างนั้นจะเขียนไม่ทัน และจะทำ research ในหัวข้อที่จะเขียนไม่ทันด้วย

หากในปีหน้าผู้เขียนว่างเว้นจากงานได้ช่วงไหน น่าจะมาทำบทความใหม่ที่ยังไม่ได้เขียนในช่วง 31 Day ครั้งนี้ เหตุผลเพราะว่าเรื่องพวกนั้นที่จะเขียนค่อนข้างยาวเหยียด หากเก็บไว้เป็นการเขียนเชิงระยะยาว แบบใช้เวลาเขียนประมาณหนึ่งสัปดาห์หรือมากกว่านั้น อาจจะเป็นเรื่องที่น่าจะดีกว่ามาก

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของศาสนาพุทธ ผู้เขียนเองกำลังคิดอยู่ว่าจะตั้งเป็นเพจใหม่ที่คัดเฉพาะเรื่องที่ดูน่าสนใจมาเขียนดีหรือไม่ เพราะยังมีอีกหลาย ๆ topics ที่เกี่ยวกับศาสนา ที่คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่แทรกลึกในพระธรรมต่าง ๆ แต่อาจจะไม่ได้เอามาตีแผ่มากนักเพราะสไตล์การเขียนของท่านอาจจะน่าเบื่ออย่างมากสำหรับคนรุ่นใหม่ มีหลายเรื่องของศาสนาพุทธที่เปรียบได้ถึงระดับ Framework ของการทำงานเชิงธุรกิจได้เลยสำหรับทัศนะของผู้เขียน เพียงแค่ว่ามันเป็นภาษาบาลี และเป็นเรื่องที่ทำให้นึกถึงความเชื่อ จึงกลายเป็นว่าเรื่องต่าง ๆ ในศาสนากลายเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามไป


ในปีใหม่ที่จะถึงนี้ คงมีเรื่องราวต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้นในชีวิตอีกครั้ง ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ก็ค่อยให้ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง

สุขสันต์วันส่งท้ายปีเก่าครับ


Nutchanon J's Stories

รวมบทความของนิสิตคณะวิศวะฯ คนหนึ่งในจุฬา ที่เรียนภาคไฟฟ้า

Powered by Bootstrap 4 Github Pages