Table of Content

พูดถึงเรื่องของข่าวพระเกจิชื่อดัง ท่านที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ที่เป็นข่าวอยู่ในตอนนี้

Table of Content

...

ในสมัยพุทธกาล (ถ้าจำไม่ผิด) เคยมีสาวกถามพระพุทธเจ้าว่า ระหว่าง “ร่างกาย” กับ “จิตใจ” ของคน ๆ หนึ่ง เราควรจะยึดติดกับอะไรมากกว่ากัน (สาวกท่านนั้นก็ทราบอยู่แล้วว่าสุดท้ายก็ไม่ควรจะยึดติดกับทั้งคู่ แต่หากจะต้องเลือกให้ยึดติดอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะยึดติดอะไรมากไปกว่ากันดี)

คำตอบที่พระพุทธเจ้าให้นั้นน่าสนใจ

ก่อนที่จะเฉลยว่าระหว่าง “ร่างกาย” และ “จิตใจ” นั้น พระพุทธท่านจะเลือกให้ยึดติดอย่างไหน ต้องพูดถึงค่านิยมของสังคมในปัจจุบันก่อน

ในปัจจุบัน เรามักบอกกล่าวอย่างสม่ำเสมอว่า เราไม่ควรที่จะใช้รูปลักษณ์ภายนอกในการตัดสินคนอื่น แต่ควรที่จะมองลึกลงไปถึงนิสัยใจคอ ภายในของคนผู้นั้นว่าเป็นอย่างไรจริง ๆ

คำถามที่สำคัญที่น่าถามต่อก็คือ แล้วเราจะต้องใช้เวลานานเท่าใดถึงจะรู้ว่า คนนั้นจะเป็นอย่างไรจริง ๆ

หากสมมติว่าเราไปเจอนางสาว A ที่ปกติเป็นคนนิสัยเรียบร้อย อยู่มาวันหนึ่งถูกโกงค่าแท๊กซี่ นางสาว A โกรธมากทำหน้าบึ้งจนถึงที่ทำงาน ปรากฏว่าเราดันไปเจอนางสาว A เป็นครั้งแรก ที่หน้าบึ้งอารมณ์เสียพอดี เราก็คงจะตัดสินนางสาว A ไปแล้วว่า นางสาว A เป็นคนใจร้อน อารมณ์เสียง่าย

ผ่านไปหนึ่งเดือน นางสาว A กลับมาเป็นปกติ เราที่ทำงานร่วมกับนางสาว A อยู่ทุกวันก็น่าจะเปลี่ยนมุมมองที่คิดในตอนแรกว่า เออ ความจริงแล้วนางสาว A ก็เป็นคนที่ใจเย็น นิสัยดี

อยู่มาอีกเดือนหนึ่ง แฟนของนางสาว A ทิ้งเธอไป นางสาว A เสียใจมาก จากคนสู้งานกลายเป็นคนทำงานชุ่ย จนสุดท้ายหัวหน้าต้องตัดสินใจไล่นางสาว A ออกไปจากบริษัท

ถามว่า ระหว่าง “ร่างกาย” และ “จิตใจ” อะไรเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาดังกล่าวประมาณสองเดือน

เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัด

เคยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่บอกว่า ร่างกายของคนเรานั้นจะมีการสูญเสียและได้อะตอมใหม่ตลอดเวลาในทุก ๆ วัน แต่กว่าที่อะตอมทั้งหมดนับตั้งแต่ตอนที่เราเกิดจะหายไปจากร่างกายเราจนหมดสิ้นนั้น ใช้เวลานานถึงสามสิบปี

แสดงว่าในเวลาสามสิบปีนั้น หากเราจะใช้คำว่า เรากลายเป็นคนใหม่โดยสมบูรณ์ (เพราะเราไม่เหลืออะไรที่มีอยู่ตอนเกิดเลย) ก็คงจะพูดได้ไม่ผิดนัก

แต่จิตใจของเรานี่สิที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

เรื่องของจิตใจ ถ้าพูดเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ก็เกี่ยวกับสัญญาณไฟฟ้าที่รับส่งไป ถ้าพูดให้เข้าเรื่องพุทธศาสนาหน่อย ก็เป็นเรื่องของวงจรปฏิจจสมุปปบาทที่วนเวียนอย่างรวดเร็วต่อหนึ่งจิตที่เกิดและดับไป เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่น่ามีใครตามทันว่าเกิดอวิชชา สังขาร วิญญาณ ฯลฯ ชาติมรณะเมื่อไหร่

เพราะฉะนั้นคนที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ น่าจะเดาออกแล้วว่าพระพุทธเจ้าให้เลือกยึดติดอะไร (ถ้าต้องเลือก) ระหว่าง “ร่างกาย” และ “จิตใจ”

เป็นเรื่องที่น่าเศร้า ที่ไม่มีอะไรคาดเดาได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับจิตใจของคนที่เรารัก

เพราะถ้าเราคาดการณ์ได้ว่าความคิดและนิสัยของคนที่เรารักจะไม่มีทางเปลี่ยนแปลงไป ก็คงไม่มีเรื่องรัก ๆ เลิก ๆ จนถึงโทรหาพี่อ้อยพี่ฉอด หรือรายการน้าเน๊กเป็นรายวัน

เรื่องของโรคอัลไซเมอร์น่าจะเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดที่สุด จากคนที่เคยเป็นพ่อแม่ที่รักลูกมากหนักหนา ก็สามารถลืมได้แม้กระทั่งลูกของตัวเองในที่สุด

จากคนที่เคยเก่งขนาดสอนทุกอย่างในโลกนี้ได้ ก็สามารถกลายเป็นคนที่แยกแม้แต่การใช้ส้อมกับช้อนไม่เป็น

ความจริง ถ้าจะพูดอย่างตรงไปตรงมา เราค่อนข้างจะยอมรับได้กับร่างกายที่เปลี่ยนไป

เรายอมรับได้ว่าพ่อแม่เราจะมีร่างกายที่แก่ลงตามอายุ เรายอมรับได้ที่แฟนของเราก็จะแก่ตามเราไปเรื่อย ๆ

สภาพของเราที่ทรุดโทรมลงตามเงื่อนขัยของอายุเป็นสิ่งที่พอมียารักษา และเป็นเรื่องที่ทำใจไว้ตั้งแต่เกิดอยู่แล้ว

แต่เรื่องของจิตใจที่เปลี่ยนไปนั้น พอถึงเวลาที่ผู้แก่ชราเริ่มหลงลืมอะไรหลายสิ่งไป ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือคู่ชีวิตของเราเอง แค่คิดก็ทำให้น้ำตาไหลได้แล้ว


ส่งท้ายบทความ เรื่องข้อคิดเห็นเกี่ยวกับข่าว

หากจะเข้าเรื่องว่าพระเกจิท่านนั้นที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ แล้วจับตัวสีกาอย่างเห็นได้ชัด (และถ้าเป็นคนปกติทั่วไปก็น่าจะเห็นได้ว่าเป็นความตั้งใจ) ถามว่าบาปไหม ก็แอบคิดในใจว่า เจตนาของท่านคงไม่เหลืออะไรแล้ว เพราะจิตของท่านคงจำไม่ได้แล้วว่า อะไรคืออะไร (มันขาดตั้งแต่ขั้นของ “นามรูป” ที่ประกอบไปด้วย “สัญญา” ไปแล้ว)

จบ

Nutchanon J's Stories

รวมบทความของนิสิตคณะวิศวะฯ คนหนึ่งในจุฬา ที่เรียนภาคไฟฟ้า

Powered by Bootstrap 4 Github Pages