Table of Content

คำแนะนำสำหรับคนที่คิดอยากเรียนต่อ ป.โท ต่างประเทศ

Table of Content

...

(จากมุมมองเด็กวิศวะไฟฟ้า แต่ก็น่าจะ apply ได้กับในกรณีทั่ว ๆ ไป)

Q1. ตอบตัวเองให้ได้ว่าอยากเรียนอะไร

เรื่องนี้คือสำคัญมาก ๆ และก็ถ้าคิดได้ยิ่งเร็วก็จะยิ่งดีมากเท่านั้น ซึ่งบางคนอาจจะบอกว่าคงยังคิดไม่ออกตั้งแต่ช่วงปีสาม (ในมุมมองของคนเรียนวิศวะไฟฟ้า) เพราะว่าแม้แต่เนื้อหาวิชาพื้นฐานของในภาคก็ยังเรียนไม่จบ แถมวิชาแต่ละสาขาก็ยังไม่ได้เรียน แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร

เรื่องนี้แนะนำว่าอยากให้ลองเข้าไปดูเว็บไซต์ของคณะที่อยากเรียนของแต่ละมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่สนใจ ละดูว่า lab ของคณะนั้นมี lab ไหนที่ดูน่าสนใจบ้าง โดยตอนนั้นเรายังไม่จำเป็นต้องรู้หรอกว่าเนื้อหาที่ต้องเรียนคืออะไร แต่เข้าใจไว้ก่อนว่าตัวเองชอบงานวิจัยหรือสาขาทางไหน เราจะมีไอเดียมากขึ้นว่าเราชอบอะไรจริง ๆ และเรื่องนี้ก็จะช่วยให้เราเลือกวิชาเลือก หรือสาขาที่เราชอบตอนช่วงปีสามปีสี่ได้ด้วย

ความจริงแล้ว เว็บไซต์ที่เราแนะนำมาก ๆ ให้ไปลองอ่านคือ Reddit (คล้าย ๆ Pantip แต่เป็นของทางฝั่งอเมริกากับฝั่งยุโรป) สนใจทางด้านไหนก็ลองหา subreddit ที่เกี่ยวข้องกับทางด้านนั้น คนใน Reddit ค่อนข้าง discuss เรื่องเฉพาะทางแบบจริงจังมาก เราจะได้เปิดโลกใบใหม่ที่อยู่นอกประเทศไทยบ้าง

Q2. ตอบตัวเองให้ได้ว่าเราอยากเรียนหรืออยากทำงานก่อน

เรื่องนี้เป็นเรื่องปัจเจก นานาจิตตัง ไม่มีใครตอบให้ได้ เถียงกันมานานก็ไม่ได้ข้อสรุปว่าแบบไหนดีกว่ากัน เรื่องนี้คนจะไปเรียนต้องเป็นคนตอบเองว่าชีวิตหลังเรียนจบ ป.ตรี จะเอายังไง

Q3. สาขาที่เรียนในระดับ ป.โท สามารถ differentiate เราให้มีค่าในตลาดแรงงาน ต่างจากเด็ก ป.ตรี จบใหม่มากแค่ไหน

เรื่องนี้ต้องศึกษาให้ดี เพราะถ้าเรียน ป.โท แต่คุณค่าในตลาดแรงงานของตัวเองไม่ได้เพิ่มไปมากนัก เรียนไปก็ดูเหมือนว่าจะเสียเวลา ส่วนตัวแนะนำว่าลองอ่านใน Reddit จะมีคนถามเกี่ยวกับเรื่องนี้แน่นอน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ คนที่จะทำต่อทางด้าน analog design โดยเกือบทั้งหมดจะเป็นคนที่จบปริญญาโท พอเรารู้สถิติโดยคร่าวประมาณนี้ก็จะทำให้เราตัดสินใจง่ายขึ้นว่าถ้าเราอยากทำงานด้านนี้ต่อ ชีวิตของเราควรจะทำยังไงต่อไป

Q4. ควรจะเริ่มศึกษาหาข้อมูลช่วงไหน

โดยส่วนตัวเราหาข้อมูลมานานมาก คือตั้งแต่ตอนจบปีสองขึ้นปีสามเลย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใช้เวลาตัดสินใจนานมาก ไม่อยากให้เรารีบไปตัดสินใจช่วงที่เหลือเวลาไม่มากแล้ว เพราะทุกอย่างจะฉุกละหุก

ยกตัวอย่างเช่น ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นจะมาเร็วสุด คือสมัครช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี เพราะฉะนั้นถ้าใครอยากได้ทุนนี้ก็ต้องเตรียมตัวก่อนแต่เนิ่น ปกติแล้วมหาวิทยาลัยจะรับสมัครช่วงธันวาคมถึงมกราคมของทุกปี บางมหาวิทยาลัยก็รับสมัครเร็วกว่านั้นอีก สำหรับ intake เข้าเทอมปกติ คือเปิดเทอมสิงหาคมไม่ก็กันยายน เพราะฉะนั้นถ้าใครคิดอยากจะเรียนต่อทันทีหลังเรียนจบปีสี่ ก็ต้องเตรียมตัวตั้งแต่ปีสามเทอมสอง เพราะปีสี่เทอมหนึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่ต้องเตรียมเอกสารสมัครเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ซึ่งตอนนั้นจะนรกแตกมาก เพราะ (ถ้าเป็นวิศวะไฟฟ้า หรือแม้แต่ภาคอื่นก็ตาม) ปีสี่เทอมหนึ่งจะเรียนหนักที่สุด มีทั้งโปรเจค วิชาเลือก ถ้ามีเรื่องเตรียมยื่น ป.โท อีก ชีวิตก็จะตึง ๆ หน่อย ส่วนตัวแล้วจึงไม่อยากให้เพิ่งมาเริ่มเลือกมหาวิทยาลัยตอนนั้น เพราะมันจะไม่ทัน

Q5. เลือกมหาวิทยาลัย

เราอาจจะเรียงลำดับจาก top U ดัง ๆ หนึ่งในห้าสิบลำดับแรก แล้วค่อย ๆ ศึกษาหาข้อมูลของแต่ละมหาวิทยาลัย เรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่เราใช้เวลากับมันมาก ๆ ไม่ต้องกลัวว่าตัวเองจะใช้เวลามากเกินไปในการเลือกอะไรแบบนี้ เพราะเราจะได้รู้ตัวเองไปเรื่อย ๆ ด้วยว่าเราชอบอะไรจริง ๆ

เรื่องของ ranking โดยส่วนตัวไม่อยากให้มองเรื่องนั้นอย่างเดียว จริงอยู่ว่ามหาวิทยาลัยหรือคณะที่ติดอันดับต้น ๆ โดยทั่วไปก็ต้องมีดีมากกว่าอยู่แล้ว แต่ส่วนตัว เรารู้สึกว่าเลือกจาก lab หรือ coursework หรืองานของอาจารย์ที่เราสนใจจริง ๆ จะดีกว่าเลือกจากอันดับของมหาวิทยาลัย ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า เช่น สมมติว่ามหาวิทยาลัย A มีอันดันทางด้านวิศวะไฟฟ้าดีกว่ามหาวิทยาลัย B แต่สมมติว่าเราสนใจเรียนต่อทางด้านหนึ่ง ๆ ที่มหาวิทยาลัย B มีงานวิจัยและอาจารย์ที่ถูกโฉลกกับความชอบเรามากกว่ามหาวิทยาลัย A มันก็ make sense ว่าเราน่าจะอยากเลือกไปเรียนต่อที่ B มากกว่า ซึ่งเรื่องอะไรแบบนี้มันเป็นเรื่องที่ปกติมาก

Q6. ดูว่าเรามี constraint ทางการเงินมากแค่ไหน และเรายอมรับความเสี่ยงอะไรได้บ้าง

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เด็กที่จะไปเรียน ป.โท น่าจะต้องคิดหนักนิดหน่อย เพราะว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว ป.โท จะไม่มีทุนให้เยอะเหมือนกับ ป.เอก โดยเฉพาะฝั่งอเมริกา กับฝั่งยุโรป ที่ ป.โท มีทุนให้เปล่าน้อยมาก ๆ แถมตำแหน่ง TA (ช่วยสอน) หรือ RA (ช่วยวิจัย) หลายตำแหน่งก็ถูกสงวนไว้สำหรับเด็ก ป.เอก ไม่ได้เก็บไว้ให้เด็ก ป.โท มากนัก หรืออาจจะเก็บไว้ แต่ต้องรอขึ้นปีสองของ ป.โท ก่อน โดยส่วนตัวเลยอยากให้มองเรื่องนี้ไว้เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอันดับต้น ๆ เลย และเราก็อาจจะต้องเผื่อในกรณีที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น นั่นคือถ้าเราเรียน ป.โท ไม่จบภายในระยะเวลาสองปี ความเสี่ยงนี้จะทำให้เงินของเราร่อยหรอมากขนาดไหน เรื่องนี้แม้จะไม่เกิดขึ้นบ่อยแต่ก็อยากให้ลองคิดเผื่อไว้

ส่วนเรื่องทุน ขออนุญาตไม่พูดถึงทุนรัฐบาลไทยซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นทุนที่ผูกมัด ถ้าพูดถึงทุนที่มาจากปลายทาง เช่น มาจากมหาวิทยาลัยที่เราจะไปเรียน หรือมาจากรัฐบาลของประเทศปลายทาง ก็อยากให้ลองอ่านเงื่อนไขของทุนดูดี ๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ระหว่างเรียนต้องรักษาผลการเรียนไหม ทุนที่ให้เป็นทุนที่ prioritized สำหรับเด็ก ป.เอก ก่อนเด็ก ป.โท หรือเปล่า ทุนนี้จะให้เฉพาะเด็กที่เรียนแบบ research-based แต่ไม่ให้เด็กที่เรียนแบบ coursework-based หรือเปล่า มีเงื่อนไขหรือเปล่าว่าการเรียนแบบ research-based จะต้องทำงานวิจัยกี่หน่วยกิตในช่วงปีสุดท้ายของการเรียน ป.ตรี ฯลฯ

Q7. ผลการเรียน ป.ตรี ต้องดีแค่ไหน

เกรดทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่อย่าลืมพวกที่เป็นงานแข่งขันหรือโปรเจคอะไรที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เรากำลังจะไปเรียนก็ควรต้องมี นี่เลยเป็นสาเหตุว่า ทำไมเราถึงอยากให้คนที่คิดจะเรียน ป.โท ต่างประเทศคิดเรื่องนี้ล่วงหน้านาน ๆ มาก ๆ เพราะว่าเราจะได้รู้ว่าช่วงเวลาปีสามปีสี่เราควรทำงานอะไรบ้าง

บางมหาวิทยาลัยจะมี declare ออกมาเป็นสถิติเลยว่าเด็กที่เขารับเข้าไปเรียน ป.โท มีเกรดเฉลี่ยเท่าไหร่ หรือที่จะได้ทุนจาก ม. จะต้องมีเกรด ป.ตรีเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น U of Melbourne เคยเขียนไว้ว่าทุนจะให้เด็กที่มีเกรดประมาณ 3.6 – 3.7 (ถ้าจำไม่ผิด) แต่เอาจริง ๆ คือ มีหลายตัวอย่างมาก ๆ ที่มีคนเกรดไม่ได้หวือหวา แต่เรียนในมหาวิทยาลัยแบบ top เพราะงานโปรเจคที่ทำคือดีจริง ๆ (เป็นประธานชมรม หรืออื่น ๆ ที่ได้รางวัลเจ๋ง ๆ เลยไม่มีเวลาทำเกรด)

Q8. เตรียมเรื่องภาษาอังกฤษ

เรื่องภาษาอังกฤษ อยากให้เตรียมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะไม่ว่าจะไปเรียนต่อประเทศไหน ผลสอบอังกฤษจะเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยประมาณ 99% จะขอแน่ ๆ

มีหลายคนที่ต้องสอบ TOEFL หรือ IELTS เป็นสองสามรอบเพราะสอบยังไงก็ไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของมหาวิทยาลัยซะที หรือโดยส่วนตัวเราเอง เราสอบ TOEFL ได้ speaking 20/30 ซึ่งค่อนข้างต่ำ ทำให้ตัด choice มหาวิทยาลัยหลาย ๆ ที่ทางฝั่งยุโรปกับแคนาดาไปเยอะมาก (ร้องไห้) โดยส่วนตัวเลยอยากเตือนเรื่องนี้มาก ๆ ไม่อยากให้ประมาทเลยว่าตัวเองพูดเก่งแล้ว ฟังเก่งแล้ว ตอนสอบจะมีเรื่องตื่นเต้นให้คะแนนฉุดจากความสามารถของเราจริง ๆ เสมอ เพราะฉะนั้นก็ ฝึกซ้อมเยอะ ๆ หรือสอบให้ชินสนามสักรอบช่วงปีสามต้น ๆ ก็ยังดี

Q9. มหาวิทยาลัยนั้นใช้ผลสอบ GRE ไหม

ส่วนตัว เป็นคนเกลียดข้อสอบ GRE มาก เหตุผลคือทำไมสมัคร ป.โท แล้วยังต้องมานั่นสอบ standardized test ซึ่งในปัจจุบัน (ปี 2023) เข้าใจว่าหลายมหาวิทยาลัยฝั่งอเมริกาคือเริ่มเอา requirement การสอบ GRE ในการสมัคร ป.โท ออกไปแล้ว แต่บางมหาวิทยาลัย เช่น ฝั่งยุโรปกับฝั่งสิงคโปร์ ยังมีการใช้ GRE อยู่ เลยอยากให้ลองดูดี ๆ ว่าที่ ๆ เราอยากไปเรียนต้องใช้ GRE ไหม ถ้าใช้ ก็ต้องเตรียมตัวสอบพวกนี้อีก ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าเสียเวลาชีวิตมากมาย

Q10. คณะที่เราอยากเข้า ปกติสมัครช่วงไหน

ตอนที่เลือกที่เรียน อยากให้จดเก็บไว้เลยว่าปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยจะรับสมัครเข้าไปเรียนช่วงไหน ที่อยากให้จดเก็บไว้เพราะว่าเราจะได้วางแผนถูกว่า พวกการสอบ TOEFL, IELTS, GRE หรือสอบวัดระดับภาษาที่สามอื่น ๆ ที่อาจจะต้องสอบ เราจะวางแผนการสอบช่วงไหน หรือเราควรจะเตรียมตัวอ่านสอบช่วงไหนด้วย พูดเลยว่าช่วงปีสามถึงปีสี่นั่นแหละเวลาจะผ่านไปรวดเร็วมาก ส่วนตัวเช่นเราเองเนี่ยสมัครสอบ TOEFL ตอน พ.ค. ปีที่แล้ว ว่าจะสอบตอนเดือน ส.ค. แต่เวลาผ่านไปเร็วมากเพราะฝึกงาน อยู่ ๆ ดี ๆ ก็ถึงวันสอบละยังเตรียมตัวไม่สุด

นอกจากเรื่องเตรียมสอบแล้วยังมีเรื่องเอกสารสมัครอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น recommendation letter ที่ตามมารยาทก็ควรจะขอความอนุเคราะห์อาจารย์ก่อนอย่างน้อยหนึ่งเดือน หรือ statement of purpose ที่กว่าจะเขียนออกก็ใช้เวลาเรียบเรียงไม่ใช่น้อย เพราะฉะนั้นอยากให้ลองเขียนเป็น timeline ดูเลยว่าชีวิตช่วงนี้ควรจะทำอะไรในแต่ละเดือนๆ แล้วทำตามแผนให้ได้มากที่สุด เพราะเวลาจะผ่านไปอย่างไวมาก

Q11. ขออาจารย์เขียน recommendation letter ทำไงดี

ข้อแนะนำก็คือ ช่วงที่เรียนอยู่ก็ทำตัวดี ๆ สนิทกับอาจารย์ แล้วตอนที่ขอท่าน ก็ช่วยเว้นเวลาให้ท่านเขียนอย่างน้อยหนึ่งเดือน เป็นช่วงเวลาที่กำลังดีที่สุด อีกเรื่องหนึ่ง การสมัครเรียนต่อ ป.โท ตั้งแต่ตอนช่วงที่เราเรียน ป.ตรี มีข้อดีอีกอย่างก็คือ เรายังสามารถเจออาจารย์ได้บ่อย ๆ อยู่นั่นเอง

Q12. ข้อแนะนำในการเขียน statement of purpose (SoP)

เรื่องนี้เป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยในการสมัครเข้า ป.โท บางมหาวิทยาลัยอาจมีแบบฟอร์มคำถามเป็นข้อ ๆ ไว้เป็น outline เบื้องต้นสำหรับเขียน แต่ส่วนใหญ่จะไม่เป็นเช่นนั้น คือให้เราเขียนเป็นกระดาษ A4 เปล่า ๆ นี่แหละ แล้วส่งในระบบไป

อันนี้อยากบอกมาก ๆ ว่า SoP น่าจะเป็นเอกสารที่สำคัญพอ ๆ กัน หรือน่าจะสำคัญมากกว่า CV ที่รวบรวมผลงานของเราทั้งหมดในช่วง ป.ตรี ด้วยซ้ำ ที่ส่วนตัวเราคิดแบบนี้เพราะว่า statement of purpose เป็นสิ่งที่บอกคณะกรรมการว่าทำไมเราถึงอยากมาเรียน มาเรียนเพราะอะไร ลองคิดดูว่ามันเป็นเอกสารชิ้นเดียวที่เราสามารถบอกความในใจ เป็นเอกสารที่ทางการนะ แต่ไม่ทางการที่สุด ที่เขาจะสามารถอ่านแล้วเขาเข้าใจวัตถุประสงค์ของเราได้ เพราะฉะนั้นอยากให้เขียน SoP ให้ดีที่สุด กระชับที่สุดเท่าที่จะทำได้ (เพราะยาวไปเขาก็ไม่อ่าน)

เทคนิคส่วนตัวที่เราเอามาใช้เขียน SoP มีด้วยกันคือ

  • ในเนื้อหามีสักครึ่งหนึ่งที่เป็นแนะนำตัวเรา ทำไมเราถึงชอบสาขานี้ อีกครึ่งหลังบอกตัวเองว่าทำไมถึงอยากมาเรียนที่นี่ ทั้งสองส่วนต้องเชื่อมโยงกัน
  • ทุกประโยคต้องมีวัตถุประสงค์ ประโยคไหนดูไม่สำคัญให้ตัดทิ้งเลย
  • ควรจะยาวประมาณไม่เกินหน้าครึ่ง (อันนี้ถามมาจาก อ.จิตโกมุท) คือประมาณ 700 คำ ถ้ายาวกว่านี้จะเยิ่นเย้อละ
  • ไม่ต้องเวิ่นเว้อ ไม่ควรเขียนอะไรที่ดู personal ไม่ต้องสำนึกในบุญคุณใด ๆ หรือไม่ต้องพูดถึงความยากลำบาก หรืออะไรที่ดูเบียว ๆ เพราะมันจะเลี่ยน (ถ้าอยากเขียนเบียว ต้องเบียวแบบ realistic)
  • สิ่งที่เขาอยากรู้คือเรื่องราวของเราเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเขา กับทำไมเราถึงอยากไปเรียนกับเขา เขาพิเศษยังไง ทำไมถึงเรียนกับเขาแทนที่จะเรียนกับที่อื่น

Q13. สมัครกี่ที่ดี

แล้วแต่เลย แต่จำไว้ว่า SoP ต้องเขียนแยกของแต่ละมหาวิทยาลัย ไม่ควรเขียนเหมือนกันแล้วสมัครไปทั่ว เพราะฉะนั้นยิ่งสมัครหลายที่ยิ่งเหนื่อย ละก็อย่าลืมว่าสมัครแต่ละที่ต้องเตรียมค่าสมัครไปจ่ายเขาด้วยนะ

Q14. เรื่องอื่นที่ต้องพิจารณา

เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกในมหาวิทยาลัย หรือในเมืองนั้น วัฒนธรรมของประเทศที่จะไปเรียน วิชาเรียนของคณะนั้นใช้ภาษาอะไร ควรเตรียมเรียนภาษาที่สามไหม ประเทศนั้นสามารถทำงานต่อได้หรือไม่ เงินเดือนเท่าไหร่ (เพราะโดยส่วนตัว ที่ไปเรียนไต้หวันเพราะอยากทำงานที่ไต้หวันต่อ แหะ) คณะที่ไปเรียนมีรุ่นพี่คนไทยเยอะไหม ฯลฯ

ถ้ามหาวิทยาลัยนั้นมี open house มาไทยก็คือ perfect อย่างตอนของเราเอง NTU Taiwan กับ Taiwan Tech มาจัดบรรยายให้ที่สถาบันปัญญาภิวัฒน์ เลยได้มีโอกาสถามเกี่ยวกับการเรียนกับเรื่องการทำงานที่โน่นแบบละเอียดมาก ส่วนตัวถ้ามีโอกาสอะไรพวกนี้คืออยากให้ไป เพราะบางข้อมูลมันไม่มีใน website

Q15. ส่งท้าย

เรื่องเรียนต่อ ป.โท ต่างประเทศ เป็นเรื่องที่ต้องหาข้อมูลนานมาก ๆ อยากให้ศึกษาข้อมูลเร็ว ๆ ตั้งแต่ปีสองหรือปีสามก็ได้ ไม่ต้องรอจนฝึกงานเสร็จหรือขึ้นปีสี่แล้วเพราะมันจะไม่ทัน

ตอน ม.ปลาย เราน่าจะชินกับการที่มีตัวเลือกน้อย ๆ เช่น เลือกคณะก็ได้แค่ จุฬา มหิดล มธ. มช. แต่ไปเหนื่อยตอนต้องเตรียมสอบวิชาต่าง ๆ มากมาย แต่การสมัคร ป.โท มีตัวเลือกเยอะกว่ามาก และก็มี constraint ให้ต้องคิดเยอะ แต่ข้อดีคือไม่ได้มีอะไรที่ต้องเตรียมสอบมากเหมือนตอน ม.ปลาย เพราะฉะนั้นเลยไม่อยากให้คิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องยาก อยากให้คิดว่ามันเป็นเรื่องง่ายคล้าย ๆ กับตอน ม.ปลาย คือตอน ม.ปลาย เรายังคิดเลยว่าเราจะเริ่มเตรียมตัวอ่านสอบเข้ามหาวิทยาลัยตอนไหน ถ้าคิดจะเรียนหมอก็อาจจะต้องเริ่มเตรียมเร็วกว่าเพื่อน นี่ก็กรณีเดียวกันว่าถ้าเราติดจะเรียนต่อ ป.โท ในต่างประเทศ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำกัน เราก็ต้องเตรียมตัวเร็วกว่าเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้อยากให้มองว่าเป็นเรื่องเครียด อยากให้มองเป็นเรื่องที่ต้องทำเรื่อย ๆ มากกว่า แต่ต้องคิดเรื่อย ๆ ที่จริงก็คล้าย ๆ กับคนอื่นที่วางแผน career path หลังจบวิศวะนั่นแหละ สู้โว้ย (จบ)

Nutchanon J's Stories

รวมบทความของนิสิตคณะวิศวะฯ คนหนึ่งในจุฬา ที่เรียนภาคไฟฟ้า

Powered by Bootstrap 4 Github Pages