ไหน ๆ ก็จะจบละ ขอเขียนบ่น (ตัวเอง) หน่อยละกัน

...

ไหน ๆ ก็จะจบละ ขอเขียนบ่น (ตัวเอง) หน่อยละกัน

Note to myself.


เรื่อง 1

สิ่งที่ตัวเองเปลี่ยนมากที่สุดในช่วง ม.ต้น คือการเข้าสังคม การเข้ากับเพื่อน ได้รับผิดชอบการเรียนด้วยตัวเองมากขึ้น

สิ่งที่ตัวเองเปลี่ยนมากที่สุดในช่วง ม.ปลาย คือการทำงานร่วมกับผู้อื่น รู้ว่าการสื่อสารที่ดีควรจะเป็นอย่างไร คนทำงานมีความต่างกันอย่างไร

แต่สิ่งที่ตัวเองเปลี่ยนมากที่สุดในช่วงมหาลัย คือการรู้ขีดจำกัดของตัวเอง

ได้รู้ว่าความจริงแล้ว เวลายี่สิบสี่ชั่วโมงทำอะไรได้น้อยกว่าที่คิด

ได้รู้ว่า ความฝันหลาย ๆ อย่างที่ตัวเองอยากทำ ที่คิดว่าจะได้ทำก่อนเรียนจบ มีที่ได้ทำจริงน้อยกว่าที่ยังไม่ได้ทำ หรือทำไม่ได้

ได้รู้ว่า พละกำลังที่เรามีอยู่ มันมีอยู่จำกัด ไม่ได้มาเรื่อย ๆ ได้ง่าย ๆ

พอเริ่มเข้าใจว่า ทุกอย่างมีขีดจำกัด ความฟุ้งฝันก็เริ่มน้อยลงมาก เมื่อเทียบกับตอนที่ยังอยู่ในโรงเรียน

ความคิดที่บรรเจิดเลิศเลอ เห็นทุกสิ่งอยู่แค่เอื้อม ความตื่นเต้นลุกเป็นไฟในวัยเยาว์ มันลดน้อยถอยลงไป

ถามว่า ความรู้สึกแบบนี้ ยังอยากรักษาเก็บไว้อยู่ไหม ความจริงก็ยังอยากเก็บไว้อยู่ แต่มันเอากลับมายากเหลือเกิน

ข้อดีอย่างหนึ่งจากการที่ความรู้สึกนี้หายไป คือ มองการได้มาของทุกอย่างเป็นระบบแบบแผนมากขึ้น

รู้ว่าสิ่งที่อยากได้มา ไม่ใช่ว่าจะได้มาง่าย ๆ ไม่ได้อยู่แค่เอื้อม แต่อยู่ไกล ต้องเดิน ต้องวิ่งไปหา

ต้องคิดว่าจะเอามาได้ยังไง ภายในเวลาหรือไม่ คุ้มได้คุ้มเสียหรือเปล่า ทำให้ใครเจ็บ หรือเสียใครระหว่างทางไปไหม

ความฟุ้งฝันที่หายไป กลายเป็นการมองว่า ทุกสิ่งต้องใช้เวลา ต้องมีแผนการ

ต้องอดทน ต้องใช้เวลาเดิน ใช้เวลาวิ่ง จะรีบไม่ได้ รีบไปก็เท่านั้น เพราะของที่อยากได้ต้องใช้เวลา เป็นเดือน เป็นปี …

ความตื่นเต้นมันจางหายไปเรื่อย ๆ

นี่คือความคิดแบบผู้ใหญ่หรือ?

ความจริง ก็ยังอยากได้ความรู้สึกแบบเด็ก ๆ กลับมาอยู่นะ

ยังอยากตื่นเต้น อยากรู้สึกท้าทาย ความจริงความรู้สึกนี้มันยังมีอยู่ แต่น้อยลง ซึ่งมันน่าเสียดาย

ทั้งหมดนี้แหละคือสิ่งที่ได้มาในช่วงเรียนมหาลัย …


เรื่อง 2

อยากจะบอกกับตัวเองตอน ม.ปลาย รวมถึงน้อง ๆ ที่กำลังเลือกมหาลัย ว่า

โลกนี้กว้างมาก กว้างกว่าที่คิด ทุกครั้งที่คิดว่ารู้โลกกว้างนี้แล้วก็คิดผิดอยู่ตลอด

เพื่อนที่รู้จักกัน แม้แต่อยู่ในภาคเดียวกัน ก็เดินคนละเส้นทาง เหมือนไปซ้ายกับไปขวา

ช่วงจบมหาลัย คือ ช่วงเวลาที่เลือกเส้นทางชีวิตตัวเองอย่างแท้จริง

ตอนเลือกมหาลัย ก็ไม่เท่านี้

เลือกมหาลัยผิด เลือกคณะพลาด ยังหันหลังกลับมาซิ่ว มาสอบใหม่ได้

เลือกที่ทำงานผิด เลือกสายงานพลาด ก็ยังกลับมาเลือกที่ทำงานใหม่ เก็บสกิล ย้ายสายได้

แต่นาฬิกาชีวิตที่กำลังนับเวลาถอยหลังอยู่มันขีดเส้นตายตลอดว่า

อีกไม่กี่ปี เธอจะอายุสามสิบ

หลังจากอายุสามสิบแล้ว หลังจากอายุสามสิบห้าแล้ว เธอยังคิดว่าเธอจะเปลี่ยนสายงานได้อยู่หรอ

ก็อาจจะได้ แต่บริษัทส่วนใหญ่คงไม่รับคนแก่เกินกันหรอก

นาฬิกาชีวิตที่นับถอยหลัง น่ากลัวกว่านาฬิกาชีวิตตอนที่อยู่โรงเรียนมาก

จากอายุสิบปี ไปยี่สิบปี เราทำทุกอย่างได้มากขึ้น

เราดื่มเหล้าได้ สูบบุหรีได้ มีเพศสัมพันธ์ได้ เลือกตั้งได้ เข้าผับบาร์ได้

ร่างกายแข็งแรงขึ้น ความคิดการอ่านดีขึ้น วุฒิภาวะมากขึ้น

จากอายุยี่สิบปี ไปสามสิบปี เราทำทุกอย่างได้มากขึ้น

เริ่มแต่งงานได้ ซื้อรถ ผ่อนบ้าน มีครอบครัว และอื่น ๆ

จากอายุสามสิบ นอกจากความคิดที่เก๋าเกมมากขึ้น มีอะไรอีกหรือที่จะดีไปกว่าเดิม

สุขภาพเริ่มถดถอย เริ่มหมดแรง

วนรถกลับตอนอายุสามสิบอาจจะทำได้ถ้าใจกล้าพอ แต่ตอนนั้นบรรทัดฐานสังคมจะเริ่มกดดันยิ่งกว่าความดันบรรยากาศ

เมื่อไหร่จะแต่งงาน เมื่อไรจะมีลูก เมื่อไหร่จะผ่อนรถผ่อนบ้านหมดเสียที

เมื่อไหร่จะได้งานที่มั่นคง เงินเดือนเท่าไหร่แล้วตอนนี้

มองไปรอบข้างก็เพื่อนเราที่ได้ดีกันทั้งนั้น ไอ้เรายังหาจุดยืนชีวิตตัวเองไม่ได้

ความกดดันนี้ยิ่งกว่าเทียบคะแนนสอบ หรือเทอมเกรดกันตอนจบเทอม

แก้เอฟสองวิชา ยังง่ายกว่าลาออกแล้วหางานใหม่ตอนอายุสามสิบ

คนที่บอกว่า “ไม่มีอะไรที่สายเกินกว่าที่จะเริ่มต้นใหม่” มันเอาไว้ปลอบใจคนที่เดินเส้นทางผิดเท่านั้นแหละ

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะเดินเส้นทางในชีวิตผิดพลาดไม่ได้เลย

แค่ว่า อยากให้คิดเยอะ ๆ

อย่าคิดส่ง ๆ

อย่าคิดตามเพื่อน ตามใคร อย่าให้ใคร (หรือแม้แต่คะแนนสอบเข้า) มาตัดสินอนาคตของเราแทนตัวเราเอง

แบ่งเวลาอ่านเตรียมสอบเข้า มาคิดเรื่องเส้นทางชีวิตในอนาคตบ้าง

เรื่องที่อยากให้คิด คือ อนาคตอยากอยู่ที่ไหน อยากมีอะไร อยากมองตัวเองในอนาคตเป็นแบบไหน

ชอบไลฟ์สไตล์ในชีวิตแบบไหน เส้นทางที่เราเลือกตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของเราหรือเปล่า

เส้นทางที่ตัวเองเลือก ซัฟเฟอร์ช่วงไหน ช่วงที่ซัฟเฟอร์ตอนนั้นคุ้มกับสิ่งที่จะได้มาหรือเปล่า จำเป็นต้องซัฟเฟอร์จริง ๆ ไหม

การอยู่โรงเรียน เหมือนขับรถออกจากบ้าน

มีรถเพื่อน รถพี่ รถน้อง ขับอยู่ด้วยกัน ไปไหนมาไหนก็ไปกัน ไม่เหงา

แต่การเลือกมหาลัย มันจะเริ่มเหมือนขึ้นทางด่วน

จะออกจากทางด่วนตอนไหนก็ต้องตัดสินใจหนัก ค่าทางด่วนก็แพง ลงจากทางด่วนเลยก็ไม่ได้ ต้องรอเจอทางออก

เพราะถ้าจะซิ่ว ก็กลัวเสียเวลา เห็นตัวเองเรียนไปปีสองปีแล้ว เพื่อนก็อยู่ด้วยกัน สนิทกันแล้ว จะออกก็กลัวเหงาชีวิต

ถ้าทนฝืนเรียนจนจบ การเข้าตลาดแรงงานก็เหมือนขึ้นซุเปอร์ไฮเวย์ เป็นทางยาวไปตลอด ไม่มีทางออก ถึงมีก็น้อยลงมาก

เพราะทุกอย่างจะเริ่มผูกพันชีวิตเหมือนเชือกรั้งตัวเอาไว้

ถ้าเป็นสายสุขภาพก็มีเรื่องใช้ทุน เรื่องเรียนต่อเฉพาะทาง

ถ้าเป็นายงานอื่นก็มีเรื่องความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เรื่อง “เงิน”

รู้ตัวอีกทีก็อายุสามสิบ

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่า ชีวิตจะจบที่อายุสามสิบ

แต่คนส่วนใหญ่ หากไม่ทั้งหมด ก็คาดหวังว่า ที่อายุสามสิบ ต้องมีจุดยืนที่มั่นคงแล้ว

วนรถกลับยาก ซุเปอร์ไฮเวย์มันไม่ค่อยมียูเทิร์น

ก็เลยอยากจะจบเรื่องนี้ที่ว่า

อยากให้เด็กที่กำลังเลือกเข้ามหาลัย คิดให้ดี

เส้นทางหลังจากนี้ ต้นทุนในการตัดสินใจผิด มีเยอะขึ้นมาก

เลือกโรงเรียนผิดยังพอถูไถจนเรียนจบได้

แต่ถ้าเลือกคณะผิด การตัดสินใจจะซิ่วจะยากขึ้นมาก

ถ้าฝืนเรียนจนจบ การตัดสินใจจะเปลี่ยนสายจะยากขึ้นเป็นร้อยเป็นพันเท่า

คิดให้ดี คิดให้ดี คิดให้ดี …


เรื่อง 3 ขอสั้น ๆ

อันนี้ไม่ได้เขียนเอง แต่เจอใน Reddit อยากจะแปลเป็นไทยให้ฟังว่า

“ความเข้าใจผิดของหลาย ๆ คน คือการที่คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จเพราะตัวเองพยายามมากกว่าคนอื่น แต่ความจริงแล้วคุณประสบความสำเร็จได้ก็เพราะว่าคุณคือ คุณ นั่นแหละ เพราะฉะนั้นถ้าคุณมีความพยายามน้อยลงมาบ้าง คุณก็ยังเป็นคุณอยู่ หาเวลาไปพักบ้างเถอะ”

อีกความเห็นหนึ่ง

“การที่ขาด work-life balance ตั้งแต่ก่อนอายุสามสิบนี่แหละที่จะทำให้คุณไม่เหลือเพื่อนเลยตอนอายุหลังสามสิบ มันไม่ผิดหรอกที่คุณจะโคตรรู้สึกดีกับการได้ทำงานหนักของคุณ ละก็มีความสุขที่จะจมปลักกับงานที่เงินเดือนเยอะมาก ๆ หรืออยากให้เส้นทางอาชีพของตัวเองไปได้อย่างดี แต่อย่าทำจนลืมคุณภาพชีวิต (well-being) ของตัวเอง การเข้าสังคมสำคัญกว่าที่หลายคนคิด แม้กระทั่งคนที่ไม่ค่อยเข้าสังคม (introverts) ก็ตาม”

“ถ้าคุณไม่ยอมทำ work-life balance ให้เป็นนิสัยตั้งแต่ก่อนอายุสามสิบ นิสัยคุณจะเสีย และอย่าคิดว่าหลังอายุสามสิบแล้วสถานการณ์จะดีขึ้น”

จบ เขียนแค่นี้แหละ


จบสามเรื่องที่อยากบ่นก่อนจบมหาลัยแค่นี้ฮะ

ยินดีต้อนรับตัวเองและทุก ๆ คนเข้าสู้ชีวิตการทำงาน + เรียนต่อ ป.โท ฯลฯ (Yay!)

Nutchanon J's Stories

รวมบทความของนิสิตคณะวิศวะฯ คนหนึ่งในจุฬา ที่เรียนภาคไฟฟ้า

Powered by Bootstrap 4 Github Pages