Table of Content

พยายามยกเลิกเชียร์ลีดเดอร์ คฑากร เพราะต้องการยกเลิก beauty standard

Table of Content

...

ตอนนี้เห็นเริ่มมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่พยายามยกเลิกเชียร์ลีดเดอร์ คฑากร ฯลฯ เพราะต้องการยกเลิกค่านิยมเรื่อง beauty standard

โดยส่วนตัวคิดว่า มันไม่น่าใช่วิธีที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้เท่าไหร่

ยังไงในส่วนลึกก้นบึ้งของจิตใจทุกคนก็ต้องมีความชอบคนหน้าตาดี หุ่นดี ตรงสเปกของตัวเองอยู่แล้ว

หรือถึงจะยกเลิกเชียร์ลีดเดอร์ คฑากร ฯลฯ อะไรเทือกนั้นจริง ๆ ก็ยังมีกลุ่มสังคมอื่น ๆ ที่มีค่านิยมเรื่อง beauty standard อยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักร้อง นักแสดง ไอดอล คิ้วบอย ฯลฯ

ส่วนตัวมองว่า เรื่องนี้ต้องปรับที่ทัศนคติของการทำงานมากกว่า ว่าเราต้องมีอคติเรื่องหน้าตาให้น้อยที่สุดตอนที่ทำงานที่ require professionalism ส่วนตอนเลิกงานจะไปกรี้ดกราดหรือหลงเสน่ห์คนหล่อคนสวยที่ไหนก็คงไม่มีใครว่าอะไร

ที่พูดเรื่องนี้ก็จะขอยกตัวอย่างแบบง่าย ๆ ให้ฟัง เช่น งานบอลของสองมหาวิทยาลัยปีสุดท้ายที่ได้จัด คนที่ต้องแบกเสลี่ยงต้องไปกินข้าวข้างถนน ในขณะที่คนบางกลุ่มได้กินอาหารที่ดีกว่า เป็นต้น ทั้งที่ความจริงแล้ว ทั้งสองกลุ่มคนเป็นคนที่ทำงานเหมือนกัน

หรือการให้ความสำคัญกับคนบางกลุ่มมากเป็นพิเศษ (?)

อาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่ได้บ้ากับวัฒนธรรมเชียร์ลีดเดอร์มาก จำได้ว่าตอนปีหนึ่งที่มีกิจกรรม first date มีการโชว์ตัวเชียร์ลีดเดอร์ของจุฬาพร้อมกับแนะนำตัว ตอนนั้นก็งงว่าเหตุผลอะไรที่เราจะต้องเสียเวลาฟังการแนะนำตัวของคนกลุ่มนี้ แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไร

ความจริง ประโยชน์ของการมีเชียร์ลีดเดอร์หรือคฑากรคือการเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการการแสดง เพราะต้องยอมรับว่า การจะเป็นเชียร์ลีดเดอร์ได้ต้องซ้อมท่าทาง การเคลื่อนไหวของแขน มือ ฯลฯ ที่ซ้อมอย่างหนัก ส่วนคฑากรก็ต้องควงไม้เป็น โยนขึ้นฟ้าแล้วรับได้ ก็ต้องซ้อมหนัก ก็เห็นได้ชัดว่าแค่หล่อหรือสวยก็มาเป็นอะไรแบบนี้ไม่ได้ ต้องซ้อมมาก่อน

โดยส่วนตัวก็มีความเคารพนับถือคนกลุ่มนี้ เหมือนเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัย ความจริงนับถือพอ ๆ กับนักกีฬาตัวแทนมหาวิทยาลัยเลยนะ เพราะถ้าให้ตัวเองมาทำอะไรแบบนี้ก็ไม่ยอมเหมือนกัน เพราะเป็นคนขี้เกียจมาก

แต่ว่า ถ้าเอาจริง ๆ แล้ว เรากลับมองว่าการที่คนบางคนมีหน้าตาหรือบุคลิกที่ดูดีกว่าคนทั่วไป อันที่จริงก็นับเป็นพรสวรรค์พิเศษบางอย่างที่คล้ายกับ เช่น นักดนตรีที่เล่นดนตรีเก่ง นักกีฬาที่มีพรสวรรค์ด้าน motor neurons หรือเด็กที่เรียนเก่งในด้านต่าง ๆ แบบที่ใช้ความพยายามในการเรียนน้อยกว่าคนอื่น ซึ่งพรสวรรค์อะไรพวกนี้บางอย่างก็ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่มีมาแต่เกิดเหมือนกัน

ซึ่งสุดท้ายมันก็ตามมาด้วยความอิจฉาในก้นบึ้งของจิตใจนั่นแหละ

ถ้าจะสรุปแบบสั้น ๆ ก็คือ ไม่ได้ต่อต้านการมีอยู่ของเชียร์ลีดเดอร์หรือคฑากร แต่แค่คิดว่า การให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้ ต้องเท่ากับคนกลุ่มอื่น ๆ เวลามีงานหรืออะไรที่ต้องทำงานด้วยกัน ไม่ใช่ว่าสนใจคนเพียงแค่บางกลุ่มแบบพิเศษใส่ไข่ จบ

Nutchanon J's Stories

รวมบทความของนิสิตคณะวิศวะฯ คนหนึ่งในจุฬา ที่เรียนภาคไฟฟ้า

Powered by Bootstrap 4 Github Pages