Table of Content

ชีวิตเรา หลงทางบ้างก็ได้

Table of Content

...

ชีวิตเรา หลงทางบ้างก็ได้

(เขียนเนื่องในโอกาสจะได้รับปริญญา แต่ไม่ได้กลับมารับ)

ถ้าย้อนกลับไปตอนที่เราอยู่ ม.6 จำได้ว่าตอนนั้นเป็นช่วงที่ทุกอย่างประดังกันเข้ามามากที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ต้องเข้าค่าย สสวท. วนอีกรอบ ค่ายหนึ่ง, เตรียมสอบเข้าแพทย์ ยังไม่รวมปัญหาติดเกมเรื้อรังที่ทำให้อ่านหนังสือช้ากว่ากำหนดประมาณหนึ่งเทอมกว่า ๆ และก็ต้องเตรียมพอร์ทยื่นเข้ารอบโควตาของแพทย์กับวิศวะในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน

ตอนนั้นจำได้ว่าชีวิตหนักหนาที่สุดคือตอนเดือนธันวา ช่วงนั้นเป็นฤดูหนาว อากาศดีมากแต่ชีวิตขมขื่นที่สุด ตอนนั้นตัวเองตกค่าย สสวท. เคมีค่ายสอง (ทั้ง ๆ ที่เคยเข้ามาแล้วตอนปีก่อน) และก็เพิ่งติดวิศวะ จุฬา รอบหนึ่ง (ภาคเคมี) ด้วยผลงานโอลิมปิกวิชาการ แต่กำลังลังเลว่าจะสละสิทธิ์เพราะใจหนึ่งคือยังอยากเข้าแพทย์อยู่ วันนัดสัมภาษณ์เป็นวันเสาร์ วันเดียวกับที่จะต้องไปสอบแข่งขันเคมีที่ ม.เกษตร กับเทอร์โบ (ผทปท. ปีนั้น) เรื่องตลกในชีวิตคือยังไม่ได้ทวนเนื้อหาอะไรเลยทั้ง ๆ ที่จะสอบพรุ่งนี้แล้ว แถมช่วงสัปดาห์นั้นทั้งสัปดาห์ต้องไปต้อนรับแขกต่างประเทศในงาน science fair ของโรงเรียนที่เอาจริงคือเหนื่อยมาก เลยแทบไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากงานของโรงเรียนเอง

วันศุกร์ก่อนวันแข่งเป็นวันสุดท้ายของ science fair ทุกคนไปเต้น ร้องเพลง กับเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันที่สนามบาสกลางโรงเรียน เราหนีออกมาอยู่ลานวิ่ง โทรศัพท์หาเพื่อนสมัย ม.ต้น เดินไปร้องไห้ไป

“ชีวิตกูเอาไงดีวะ”

เพื่อนที่คุยโทรศัพท์ด้วยก็ไม่รู้จะปลอบยังไง หรือจะตัดสินใจชีวิตแทนยังไง (ก็ต้องยอมรับว่าชีวิตใครชีวิตมันจริง ๆ ใครมันจะไปตัดสินใจแทนได้) ก็ได้แค่บอกว่าทำให้เต็มที ความจริง คือพูดได้แค่นั้นก็เป็นสิ่งที่ช่วยเหลือได้มากที่สุดแล้ว

วันรุ่งขึ้นก็ตัดสินใจสละสิทธิ์วิศวะเคมี จุฬา ละก็ไปแข่งเคมีให้โรงเรียนที่ ม.เกษตร

ความจริงแล้วย้อนกลับไปก็นึกถึงตอนที่คุยกับอาจารย์แนะแนวที่โรงเรียน (อ.พิริยา) ตอนนั้นบอกอาจารย์ด้วยน้ำเสียงหม่น ๆ ตอนเลิกคาบว่า

“ชีวิตผมดูหลงทางมากเลยครับ”

ละอาจารย์ก็ตอบกลับมา

“ชีวิตเราหลงทางบ้างก็ได้”

ช่วงที่ชีวิตพลิกผันมากที่สุดก็น่าจะเป็นช่วงหลังจบ ม.6 นี่แหละ พอถึงรอบโควตาแพทย์วิจัยของ ศรร. จริง ๆ ก็ไม่ติด ตอนก่อนสอบวันนั้นก็ขอพระบิดาไว้เลยว่า ถ้าตัวเองไม่เหมาะสมจริง ๆ ให้ปล่อยไปเรียนวิศวะ พอรู้ว่าไม่ติดก็เปลี่ยนใจทันทีไปเลือกวิศวะ ทะเลาะกับที่บ้านสองรอบ รอบละสามสี่วัน กว่าจะติดวิศวะตามที่ปรารถนาไว้ ก็หลุดมาจนถึงรอบแอดมิดชั่น (ที่ตอนนี้โดนรวบไปกับรอบรับตรงแล้ว)

เวลาผ่านไปประมาณสี่ปี เทอมสุดท้ายในชีวิต ไปลงวิชา reinforcement learning ของอาจารย์เชาวน์ดิศ

คาบแรกเป็นบทแรกที่ทุกคนน่าจะได้เรียนคือ Multi-Armed Bandits

เป็นอารมณ์คล้าย ๆ กับว่า ถ้าเราเข้าไปในคาสิโนที่มีเครื่อง Bandits ต่าง ๆ (คล้าย ๆ กับเครื่องที่ชักคันโยกแล้วจะได้รางวัลต่าง ๆ กันถ้าเลขที่หมุนตรงกัน) ประเด็นของเรื่องราวคือ เราไม่มีทางรู้ก่อนเลยว่า Bandit แต่ละอันจะมีรางวัลให้เฉลี่ยเท่าไหร่

สิ่งที่เราต้องทำคือลองไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอ Bandit ที่มีรางวัลเฉลี่ยสูงที่สุดในบรรดาเครื่องที่ลอง หลังจากนั้นเราก็เลือกที่จะเล่น Bandit ที่ให้รางวัลสูงที่สุดนั้นไปเรื่อย ๆ

คำถามที่สำคัญคือ แล้วตอนไหนที่เราควรจะยอมละทิ้ง Bandit ที่มีรางวัลสูงสุด ละยอมไปเล่นเครื่องอื่นบ้าง ยอมไปสำรวจเครื่องที่อาจจจะมีรางวัลสูงกว่า เพื่อที่จะได้เจออะไรใหม่ ๆ ที่มีการตอบแทนสูงกว่า

จากการทดลองแบบง่าย ๆ เป็น simulation เล็ก ๆ ในคอมพิวเตอร์ ก็ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า การเล่นแบบที่ลองอะไรใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ (มี exploration) ถึงแม้ว่าในระยะสั้นจะได้รางวัลรวมน้อยกว่าผู้เล่นที่มี exploration น้อยกว่า (ยึดติดกับเครื่องที่ให้รางวัลสูงที่ตัวเองรู้ตั้งแต่แรก) แต่พอเป็นระยะยาวแล้ว คนที่มี exploration มากกว่าจะมีรางวัลโดยรวมที่สูงกว่า

แสดงว่าเราหลงทางบ้างก็ได้

ความจริงชีวิตเราก็คงคล้าย ๆ กับแบบนี้แหละ เส้นทางชีวิตแต่ละทางก็ให้รางวัลชีวิตที่ไม่เท่ากัน แต่เราไม่อาจรู้เลยว่าทางไหนที่จะให้รางวัลชีวิตกับเรามากที่สุด

และแต่ละคนก็ดันไม่เหมือนกันอีก

เพราะฉะนั้น ทางเดียวที่จะรู้ คือ ลองไปเรื่อย ๆ อย่าไปยึดติดกับอะไรนานเกินไป

มี exploration rate ที่เหมาะสม ไม่มากจนทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่ไม่น้อยเกินไป จนชีวิตไม่รู้เลยว่า อะไรกันแน่ที่เป็นเส้นทางที่ดีที่สุดในชีวิตจริง ๆ

สุดท้ายพอลองมองย้อนกลับไป ความจริงมันก็ดูเหมือนการบังคับให้ตัวเองหลุดจากกรอบเดิม ๆ หลาย ๆ อย่างเหมือนกัน

ถ้าตอนนั้นยอมยืนยันสิทธิ์วิศวะเคมี ก็จะไม่ได้เรียนวิศวะไฟฟ้าที่ตัวเองชอบจริง ๆ

ถ้าตอนนั้นโควตาแพทย์ดันรับเราจริง ๆ เราคงไม่มีโอกาสมาถึงจุดนี้ได้ (แต่อาจจะไปถึงอีกจุดหนึ่ง)

เผอิญ บังเอิญว่าตอนที่เลือกวิศวะไฟฟ้า เหมือนเลือก Bandit ถูกเครื่องพอดี

พอโตขึ้น เจอคนหลากหลายมากขึ้น ก็รู้ว่ายังมีอีกหลายเครื่องที่ยังไม่ได้ชักคันโยกลงมา ยังไม่รู้ว่าถ้าเราไปทำสิ่งนั้น แล้วชีวิตจะเป็นเช่นไร

เพื่อน ๆ หลายคนก็มีชีวิตคนละแบบแบบห่างกันเป็นโยชน์ เส้นทางชีวิตต่าง ๆ กันออกไป

ยังสัญญากับตัวเองว่า หลังเรียนจบโท หรือทำงานตรงสายไปได้ระยะหนึ่ง ก็คงตัดสินใจลองเปลี่ยนเครื่อง ลองชักคันโยกเครื่องอื่น ๆ ดูบ้าง เผื่อจะเจออะไรใหม่ ๆ ในชีวิต เหมือนกับที่ตอน ม.ปลาย ได้ทำมาแล้ว

“ชีวิตเราหลงทางบ้างก็ได้”

ยินดีกับเพื่อน ๆ บัณฑิตทุกคนด้วยนะคับ

Nutchanon J's Stories

รวมบทความของนิสิตคณะวิศวะฯ คนหนึ่งในจุฬา ที่เรียนภาคไฟฟ้า

Powered by Bootstrap 4 Github Pages