Table of Content
ว่าด้วยดราม่าในทวิตเตอร์เรื่องคนจนคือไม่พยายาม
Table of Content
ขอพิมพ์ในเฟสละกัน แต่ต้นเรื่อง (ตามภาพ) มาจากทวิตเตอร์
ใครอยากไปตามก็: ต้นทาง
เอาจริงส่วนตัวรู้สึกเห็นด้วย 50 % ไม่เห็นด้วยอีก 50 %
เรื่องที่ไม่เห็นด้วย: ในทวิตน่าจะพูดให้หมดละ เรื่องของความจนมันน่ากลัวจริง ๆ แหละ ไม่ใช่ว่าแค่มี resource ฟรีแล้วจะยกระดับมันสมองของคนได้ทั้งประเทศ เข้าใจเลยกับคนที่พ่อแม่ไม่ได้ปูทางมาให้ ไม่ได้เคี่ยวเข็ญด้านการเรียน เงินไปเรียนพิเศษหรือแม้แต่ซื้อหนังสือที่ศูนย์หนังสือจุฬาก็ไม่มี คอมก็ไม่มีเงินซื้อ กลับมาบ้านต้องหาเงินเลี้ยงพ่อแม่ที่ไม่เอาไหน ใช้ชีวิตกับรถติดกรุงเทพเกิดหนึ่งในสี่ของทุก ๆ วัน อาหารที่กินก็ไม่ถูกโภชนาการ จะเอาแรงจากไหนมาใช้สมอง ฯลฯ อันนี้คือเข้าใจมาก ๆ กับเด็กที่มีชีวิตฉิบหายระดับนั้น ส่วนตัวก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะช่วยชีวิตหรือกอบกู้ประเทศจากความยากจนระดับหายนะแบบนั้นได้ยังไง
เรื่องที่เห็นด้วย: เอาจริง ๆ คือ ถ้าคนมันจะมีข้ออ้าง มันมีข้ออ้างได้ล้านแปดแหละ ตอนช่วงที่เรามีไฟเรียนหนัก ๆ จำได้ว่าขนาดตอนที่เรียน รด. ยังเอาโจทย์ตรีโกณมิติไปทำ กับช่วงปีสุดท้ายที่เอาศัพท์อังกฤษไปท่องแก้เซ็ง ทำตอนตากแดดร้อน ๆ นั้นล่ะ ญาติรอบตัวกับพ่อแม่ก็มาจากความลำบากทั้งนั้น ก็คิดว่าหลาย ๆ ท่านตอนนี้ก็ได้ดิบได้ดีแม้ว่าชีวิตจะหนักหนาในตอนเด็ก
ความจริงที่คนเถียงกันในทวิตก็ไม่ได้เห็นดีเห็นงามด้วยไปทุกอย่างหรอก
เมื่อวานลองนั่งอ่านดูก็เห็นว่ามีสองแนวคิดที่เด่นขึ้นมาคือเรื่อง
- ชีวิตบางทีก็ขึ้นกับโชคชะตา
- Meritocracy is bad
ขอเอาอันแรกก่อน ชีวิตบางทีก็ขึ้นกับโชคชะตา อันนี้เห็นด้วย แค่เกิดมาชีวิตก็ไม่เท่ากันแล้ว แต่โดยส่วนตัวคิดว่า แล้วไงต่อ?
อันที่สอง Meritocracy is bad อันนี้รู้สึกไม่เห็นด้วยอย่างมาก เมื่อวานมีคนเสนอให้ไปอ่านหนังสือ The tyranny of merit แต่เราก็ไปอ่านสรุปมา ยิ่งรู้สึกว่าตรรกะนี้มันก็ดูสมเหตุสมผล แต่ไม่นำสู่วิธีแก้ปัญหาที่ดีเท่าไหร่ (ความเห็นส่วนตัว) เขาอ้างว่าการที่สังคมให้ค่ากับตัวบุคคลที่การงานและความสามารถ เป็นสิ่งที่ดีในข้อสมมติฐานว่าทุกคนเท่ากัน แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ทุกคนต่างเกิดมาในชนชั้นทางสังคมและความมั่งคั่งที่ต่างออกไป คนที่มีความมั่งคั่งมากกว่าสามารถพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองได้ดีกว่าคนที่มีมาจากความยากจน ซึ่งเห็นได้ชัดจากสังคมสหรัฐอเมริกาที่ความเหลื่อมล้ำของคนสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าแนวคิดเรื่องการให้ค่าคนจาก merit จะค่อนข้างดูดีในเชิงที่ว่า ใครมีความสามารถมากกว่าหรือมีผลิตผลที่มากกว่าก็ควรจะได้ในสิ่งที่ดีกว่า แต่ในความจริงกลับทำให้ความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ข้อเสนอของผู้เขียน ซึ่งเป็นอาจารย์จากฮาร์วาร์ด ก็เสนอว่าควรจะมีระบบสุ่ม หรือการรับเข้าแบบเชิงองค์รวม (holistic) มากขึ้น
แต่เอาจริงไม่ค่อยเห็นด้วยกับอะไรแบบนี้เท่าไหร่ ถ้าจะยกตัวอย่างเหตุการณ์ง่าย ๆ เช่น เคยมีเด็กเอเชียที่ฟ้องมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่สหรัฐ เพราะรู้สึกไม่ยุติธรรมที่ที่นั่งบางส่วนถูกจัดสรรไว้สำหรับคนผิวสี ทั้ง ๆ ที่เขาก็เตรียมตัวอ่านหนังสือมาหนัก ที่จริงนี่ก็เห็นด้วยกับเด็กเอเชียคนนั้น ถ้าเรามองในมุมของเขาก็คิดว่าไม่แฟร์จริง ๆ แต่ถ้ามองในมุมของรัฐบาล อาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้เพราะจะทำให้คนที่มาจากสังคมที่ด้อยโอกาสกว่าได้มีโอกาสยกระดับชีวิตบ้าง แต่เอาจริงถ้ามองเชิงเปรียบเทียบก็เหมือนกับนายกบ้านเรากำลังจะแจกตังหนึ่งหมื่นบาทแต่ไม่ครบทุกคนนั่นแหละ เมื่อคืนอ่านจนดึกดื่น มีงานวิจัยเชิงจิตวิทยาชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ เขาบอกว่า
- คนที่เชื่อในเรื่องของ Meritocracy สำหรับตัวเอง (ย้ำว่า สำหรับตัวเอง) คือ มีแนวคิดว่าชีวิตของเรา เราเป็นผู้เลือกเอง ทำเอง ได้เอง คิดว่า I must get what I deserve มักจะเป็นคนที่มีความสุขในชีวิตมากกว่า สามารถที่จะพัฒนาตัวเองได้ดีกว่า พูดง่าย ๆ คือมี growth mindset ที่ดี
- แต่คนที่เชื่อในเรื่องของ Meritocracy สำหรับคนอื่น มักจะชอบโทษคนอื่นว่าชีวิตมาได้แค่นี้ก็คือทำตัวเองนะ มักจะขาดความเห็นอกเห็นใจ รวมไปถึงชอบมีพฤติกรรมที่เรียกว่า โทษเหยื่อ (victimization)
- ตรงข้ามกับข้อสองนิด คือคนที่เชื่อว่าชีวิตเป็นไปตามโชคชะตาบ้าง มักจะมีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น
เรื่องนี้เลยอยากจะขอจบด้วยข้อสรุปนิดหน่อย คือ ชีวิตเรามันก็ไม่แฟร์ตั้งแต่แรกอยู่แล้วนั่นแหละ การที่จะทำให้สังคมมันยุติธรรมมากที่สุดคงต้องพึ่งรัฐบาลสุด ๆ อย่างน้อยแค่เรื่องขนส่งสาธารณะดีขึ้น หรือเรื่องโอกาสทางการศึกษาดีขึ้น (ทำไมไทยยังไม่มีอะไรที่เหมือนกับ Khan Academy?) ก็น่าจะทำให้ความเหลื่อมล้ำดีขึ้นได้มากแล้ว แต่ในเมื่อสังคมไทยตอนนี้มันก็แย่แบบนี้ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้และยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น เราจะทำยังไงให้สามารถที่จะไปในจุดที่เราต้องการได้แบบที่พึ่งพาสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ให้น้อยที่สุด ก็เป็นการบ้านของทุกคนที่ต้องคิดวิเคราะห์กันเองละกันเนอะ
จบการเขียนไว้ค้าง ๆ แบบนี้ละ เพราะตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะแก้ปัญหาเรื่องความจนยังไง ไม่ใช่รัฐบาลจ้า